องค์สถาปนา

พระชีวประวัติโดยสังเขป


   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์) มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๙ พระองค์เป็นพระราชปิโยรสที่สนิทเสน่หา ของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาแต่ทรงพระ เยาว์โปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดพระองค์เสมอ แม้ในเวลาเสด็จประพาสหัวเมืองใกล้หรือไกลก็โปรดให้โดยเสด็จด้วยทุกครั้ง พอทรงพระเจริญขึ้นก็ได้รับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกิจใหญ่น้อยต่างพระเนตรพระกรรณตลอดรัชกาล

   สำหรับการศึกษาวิชาทั้งปวง พระองค์ทรงเล่าเรียนในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอกรมหลวงวรเสรฐสุดา ซึ่งเป็นขัตติยนารีทรงรอบรู้ทั้งอักขรสมัยและโบราณราชประเพณี นอกจากนี้ก็ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ ซึ่งนับถือกันในสมัยนั้นว่า สมควรแก่พระราชกุมารทุกอย่าง เช่น ภาษามคธ ทรงมีพระปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) เมื่อยังเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต เป็นพระอาจารย์ การยิงปืนไฟ ทรงศึกษาในสำนักพระยาอภัยศรเพลิง (ศรี) วิชามวยปล้ำ กระบี่กระบอง ทรงศึกษากับหลวงพลโยธานุโยค(รุ่ง) วิชาอัศวกรรม ทรงศึกษาในสำนักหม่อมเจ้าสิงหนาท ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิทักษเทเวศร์ และวิชาคชกรรม ทรงศึกษากับสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ แต่วิชารัฎฐาภิบาลราชประเพณี และโบราณคดีทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานการฝึกสอนเองตลอดมา

  ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้จัดการพระราชพิธีรับพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ และให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ โปรดให้จัดหาครูฝรั่งที่เมืองสิงคโปร์คือนางแอนนา เลียวโนเวนส์ เข้ามาสอนภาษาอังกฤษแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระองค์ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษดังกล่าวอยู่จนครบกำหนดผนวชเป็นสามเณร

  ในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ และเมื่อทรงลาผนวชเสด็จออกไปอยู่ฝ่ายหน้าแล้วก็ได้ทรงเล่าเรียนต่อจากหมอจันดเล มิชชันนารีชาวอเมริกันพร้อมๆ กับที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงกวดขันในเรื่องราชการงานแผ่นดินยิ่งขึ้น คือนอกจากที่เสด็จเข้าเฝ้าและโดยเสด็จตามปกติในเวลากลางคืน ถ้าทรงพระราชวินิจฉัยข้อราชการก็มีรับสั่งให้หาสมเด็จพระราชโอรสเข้าไปปฎิบัติประจำพระองค์ เพื่อรับฟังพระบรมราโชวาทและพระบรมราชาธิบายในกระแสรับสั่ง ข้อราชการไปยังเสนาบดีผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อยู่เนือง ๆ เป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้รับความรู้ในเรื่องการปกครองแผ่นดินมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๐๘ อันหมายถึงการเปลี่ยนฐานะของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ มาอยู่ในที่รัชทายาท จึงต้องทรงรับการเตรียมการเพื่อปกครองแผ่นดินสืบไปในภายหน้า ดังในปี พ.ศ.๒๔๑๐ พระองค์ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศขึ้นสูงกว่าเดิม เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ และทรงรับหน้าที่ในราชการแผ่นดินด้วยการบัญชากรมมหาดเล็ก กรมล้อมพระราชวังและกรมพระคลังมหาสมบัติ

  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๑๑ ที่ประชุมของเหล่าเสนาบดีและบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่จึงเห็นพ้องกันถวายราชสมบัติ แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาท เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ เป็นรัชกาลที่ ๕ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยมีกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ แต่โดยเหตุที่พระองค์ทรงได้รับราชสมบัติในขณะที่ยังมิได้ทรงบรรลุนิติภาวะ

  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา) ได้รับแต่งตั้งตามความเห็นชอบของที่ประชุมเสนาบดี ถึงแม้ว่าจะยังทรงพระเยาว์อยู่ พระองค์ก็เสด็จออกขุนนางตามกำหนดและประทับเป็นประธานในพระราชพิธีต่าง ๆ เสมอ ทรงเข้าร่วมในการประชุมเสนาบดี และทรงรับรู้ข้อราชการต่างๆ จากการกราบบังคมทูลของผู้สำเร็จราชการอยู่เสมอ จึงเป็นการศึกษางานเกี่ยวกับปกครองแผ่นดินเพื่อเตรียมพระองค์ ที่จะบริหารราชการเองในภายหน้าในขณะเดียวกันก็ได้ทรงวางพระองค์ ให้เป็นที่รักใคร่ชื่นชมของข้าราชบริพารโดยมิได้วางอำนาจถือพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงปฏิบัติต่อพระประยูรญาติและพระราชวงศ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

  ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เจริญพระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ๑๕ วัน แล้วจึงลาผนวช นับเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เสด็จออกทรงผนวชในระหว่างครองราชสมบัติ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถจะว่าราชการแผ่นดินได้เองโดยสิทธิ์ขาดไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป จึงได้จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใหม่เป็นครั้งที่สองตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖ สิ่งพิเศษที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวก็คือ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในงานพระราชพิธีว่า ตั้งแต่นี้ไปการหมอบเฝ้าให้ให้เลิกทรงสั่งให้พระราชวงศ์และข้าราชการซึ่งกำลังหมอบเฝ้าอยู่นั้น ให้ลุกขึ้นยืนทั้งหมด โดยทรงให้เหตุผลว่า ประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้านั้นไม่เหมาะสมกับสมัยของบ้านเมืองแล้ว และในโอกาสเดียวกัน พระองค์ได้ทรงสถาปนาเจ้าพระยาศรีสริยงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ได้รับบรรดาศักดิ์สูงสุดในฝ่ายขุนนาง เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เพื่อตอบแทนคุณความดีที่รับราชกาลฉลองพระเดชพระคุณแทนพระองค์มาเป็นเวลา ๕ ปี

   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมเหสีและเจ้าจอมอยู่หลายพระองค์ แต่ที่ทรงยกย่องให้มีพระยศศักดิ์สูงเหนือพระสนมอื่นใด มีอยู่ด้วยกัน ๔ พระองค์ คือ

  • สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี หรือที่รู้จักกันดีในพระนาม "พระนางเรือล่ม" เนื่องจากทรงประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ ในขณะเสด็จทางเรือไปยังพระราชวังบางปะอิน
  • สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ึ่ซงในรัชกาลที่ ๘ ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย
  • สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับสถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาชิราวุธสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่สอง ซึ่งได้เสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลต่อมา
  • สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงรับสถาปนาพระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

  สำหรับพระราชโอรสพระราชธิดานั้นทรงมีทั้งหมด ๗๗ พระองค์ คือพระราชโอรส ๓๒ พระองค์ และพระราชธิดา ๔๔ พระองค์ กับอีกพระองค์หนึ่งซึ่งไม่ทันจะประสูติโดยสิ้นพระชนม์ในพระครรภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัตินานถึง ๔๒ ปี ซึ่งนับว่านานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดของไทยในอดีต ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน สิริรวมพระชนมพรรษาได้ ๕๘ พรรษา ตลอดระยะเวลาอันยาวนานแห่งการครองราชย์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่ประเทศชาติอย่างหาที่เปรียบมิได้ อย่างไรก็ดี ในที่นี้จะเสนอพระราชดำริพระบรมราโชบายและพระราชกรณียกิจ เฉพาะในส่วนแห่งการพระศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาอันมั่นคง เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่มหาชนชาวสยามตลอดกาลนาน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุง รัตนโกสินทร์ แม้ว่าจะทรงมีพระราชภารกิจทางด้านการปรับปรุงประเทศอยู่มากแล้วก็ตาม แต่ก็ทรงมีพระราชศรัทธาอันแรงกล้า ในการที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

   ดังจะเห็นได้จาก พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "เมื่อข้าพเจ้าได้ดำรงสิริราชสมบัติแล้ว ก็ตั้งใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงอยู่เป็นนิจ… ข้าพเจ้าอาจปฏิญาณใจได้ว่า ถ้าชีวิตข้าพเจ้ายังอยู่ตราบใด แลข้าพเจ้าคงคิดจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ" และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า "ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ซึ่งจะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอาณาจักร ให้ดำเนินไปในทางวัฒนาการพร้อมกันทั้งสองฝ่าย" การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชศรัทธาอันแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้า ดังพระราชดำรัสนั้น คงสืบเนื่องจากการที่ทรงยืดถือปฏิบัติตามกฎ ที่มีอยู่ในพระธรรมศาสตร์ ถือว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ ทรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปภถัทมภก เช่นเดียวกับพระบูรพกษัตริย์ ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมา รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในลักษณะต่างๆ ดังนี้

   ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ ในขณะที่พระองค์เสวยราชสมบัติ แม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจเป็นอันมาก ก็ยังได้พระราชอุตสาหะเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุสืบอายุพระพุทธศาสนา และได้ทรงจัดการบวชพระภิกษุทุกปีมิได้ขาด แสดงถึงความมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา

   ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดฯ ให้ชำระพระไตรปิฎกและพิมพ์เป็นอักษรไทย เรียกว่า "พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์" นับเป็นครั้งแรกที่มีการตีพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทย การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกในครั้งนั้น รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐ ชั่ง เป็นค่าจ้างพิมพ์พระไตรปิฎกจำนวน ๑,๐๐๐ จบ และโปรดเกล้าฯ ให้แจกจ่ายไปตามพระอารามต่างๆ ทั่วประเทศเป็นผลให้เหล่าพระสงฆ์ได้อาศัยพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ เป็นแนวทางในการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนกระทั่งปัจจุบัน และได้พระราชทานไปยังสถานศึกษา ในต่างประเทศอีกหลายแห่ง ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายในต่างประเทศด้วย

  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๕รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ เพื่อจัดสังฆมณฑลให้เป็นระเบียบเรียบร้อยทั่วพระราชอาณาจักร ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าการปกครองสังฆมณฑลเป็นไปเป็นระเบียบแบบแผนอันเรียบร้อย พระศาสนาก็รุ่งเรืองถาวร ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๔๕ แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ ๕ ในการนำหลักการสมัยใหม่มาใช้กับการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน กล่าวคือ มอบอำนาจบริหารให้แก่มหาเถรสมาคมในอันที่จะปกครองตัดสินข้อขัดแย้งและเป็นองค์ปรึกษา แก่สังฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร คำตัดสิน ของมหาเถรสมาคมนั้นให้ถือเป็นสิทธิขาด ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ได้จัดอนุโลมตามวิธีปกครองพระราชอาณาจักรคือมีเจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง และอธิการหมวด บังคับบัญชาในมณฑล เมือง แขวง ตำบล และวัด ให้ขึ้นตรงต่อกันโดยลำดับ กำหนดหน้าที่แต่ละตำแหน่งไว้โดยละเอียดชัดเจนเป็นอำนาจถอดถอน บำรุงรักษา สั่งสอนกุลบุตรตลอดจนเผยแพร่ศาสนา ทำให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือเกิดเอกภาพทางบริหาร ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกัน และสอดคล้องกับการจัดรูปการปกครองของฝ่ายพระราชอาณาจักรในสมัยนั้น นอกจากนี้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๔๕ ยังแสดงให้เห็นถึง พระบรมราโชบายของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเห็นคุณค่าของการศึกษาในวัด ในพระราชบัญญัติกำหนดให้พระสงฆ์ตั้งแต่ชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุดไว้ประการหนึ่งว่า ต้องมีหน้าที่บำรุงการศึกษาด้วย จากพระบรมราโชบายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าทรงดำเนินการใหสอดคล้องกับประกาศเรื่องจัดการศึกษาเล่าเรียนในหัวเมืองใน พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ. ๑๑๗ ) ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัดต่างๆ มีพระภิกษุเป็นผู้อบรมสั่งสอน และเพื่อให้การจัดการศึกษาในหัวเมืองดำเนินไปด้วยดี รัชกาลที่ ๕ จึงได้ทรงพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดการตีพิมพ์หนังสือแบบเรียนหลวง ทั้งส่วนที่จะสอนธรรมปฏิบัติ และวิชาความรู้อย่างอื่นเป็นอันมากเพื่อจะพระราชทานแก่พระภิกษุทั้งหลายไว้สำหรับฝึกสอนกุลบุตรทั่วไป และทรงมอบหน้าที่ให้สมเด็จพระมหามณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสและสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้ดำเนินการจัดการศึกษาหัวเมืองดังกล่าว

   ดังนั้น การที่รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดตามหัวเมืองต่างๆ เท่ากับเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญแพร่หลาย และเป็นการวางรากฐานโรงเรียนหัวเมืองในปัจจุบันด้วย แต่การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งที่จะให้พระสงฆ์มีบทบาทในการบำรุงส่งเสริมการศึกษาของชาตินั้น ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง กล่าวคือ พระสงฆ์บางกลุ่มยังไม่ยอมรับวิธีการอบรมสั่งสอนแบบใหม่ เป็นเหตุให้งานด้านการศึกษาของราษฎรซึ่งรวมอยู่กับการศึกษาของคณะสงฆ์ เจริญก้าวหน้าไปกว่าเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่การบำรุงการศึกษาของราษฎรโดยเสมอภาคนั้น เป็นจุดประสงค์อันแท้จริงที่ทรงยึดถือมาตลอดรัชกาล ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "เจ้านายราชตระกูลนั้นตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุดจะให้ได้โอกาศเล่าเรียนได้เสมอกันไม่ว่าเจ้าว่าขุนว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกไว้ว่า การเล่าเรียนในเมืองเรานี้จะเป็นของสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้"

   พระบรมราโชยายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับพระสงฆ์ นอกจากการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ยังได้ทรงตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ทั้งฝ่ายมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่สงฆ์ทั้งสองฝ่าย พระองค์ทรงสถาปนา "มหา มกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร สำหรับเป็นที่ศึกษาของสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระราชบิดา ส่วนอีกสถานหนึ่ง เป็นที่เล่าเรียนของสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งที่วัดมหาธาตุ เรียกว่า "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระองค์เอง สถาบันการศึกษาทั้งสองแห่งดังกล่าว

  ในปัจจุบันยังคงดำเนินการส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย นับเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาอีกวิธีหนึ่ง พระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นยังได้แสดงออกให้เห็นจากการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดจำนวนมากมาย ทั้งในกรุงและหัวเมือง เช่น พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดฯ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตร และทรงประกาศมอบวัดให้เป็นที่ประกอบกิจของสงฆ์ และโปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นในโอกาสต่าง ๆ กันเช่น สร้างวัดเทพศิรินทราวาส เพื่ออุทิศถวายพระราชชนนี ทรงให้สร้างวัดราชบพิธ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ ทรงให้สร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติขึ้นที่พระราชวังบางปะอิน และเอาพระทัยใส่ในการบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้จากจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับการบูรณะวัดระหว่างพระองค์กับพระมหสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยทรงเป็นผู้กำหนดกะเกณฑ์ลักษณะสิ่งของต่างๆ ที่จะใช้ในการซ่อมแซมด้วยพระองค์เอง

  เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ในการพระศาสนา เพราะทรงมุ่งหมายจะให้วัดเป็นสถานศึกษาและเป็นแหล่งสืบอายุพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว การพระราชกุศลที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินมาทุกปีมิได้ขาด เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ เช่น ทรงทอดพระกฐินและทรงบำเพ็ญการพระราชกุศลต่างๆ ส่วนการพระศาสนาในต่างประเทศนั้นพระองค์ทรงใฝ่พระทัยอยู่เป็นนิจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ พระองค์ได้เสด็จประพาสถึงดินแดนมอญ พม่า อินเดีย ได้เสด็จนมัสการบริโภคเจดีย์เดิมที่มฤคทายวัน ได้ทรงนำศาสนวัตถุและภาพพระพุทธเจดีย์มาสู่พระราชอาณจักร และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ มาควิส เคอร์ซัน อุปราชของประเทศอินเดีย เห็นว่าพระองค์ทรงดำรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก จึงทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุครั้งนั้น ประเทศใกล้เคียงเช่น ญี่ปุ่น พม่า และลังกา ต่างก็แต่งทูตเข้ามาขอพระบรมสารีริกธาตุพระองค์ ก็ทรงแบ่งพระราชทานตามประสงค์เป็นผลให้ความสัมพันธ์กับต่างประเทศมั่นคงขึ้น การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้วถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็เป็นผลดีต่อประเทศทุกด้านทั้งฝ่ายสงฆ์ และฆราวาส จุดเด่นประการสำคัญที่ช่วยทำให้การทำนุบำรุงประพุทธศาสนาได้รับความสำเร็จ กล่าวคือ การที่พระลาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระทัยใส่และติดตามผลเรื่อยมา ทั้งยังได้ทรงเชิญชวนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ประชาชนทั่วไป ใหช่วยกันมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นผลให้พระพุทธศาสนาเจริญสืบทอดจนถึงทุกวันนี้ คณาจารย์-เจ้าหน้าที่ มจร. : "๕๐ ปี อุดมศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๔๐)" พ.ศ. ๒๕๔๐, หน้า ๓ -๙)