หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสุชิน สุชีโว (สมบูรณ์สุข)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์หลักการสงเคราะห์ญาติในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสุชิน สุชีโว (สมบูรณ์สุข) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาเทียบ สิริญาโณ
  พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที
  นายสนิท ศรีสำแดง
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     การศึกษาวิจัยนี้ มุ่งศึกษาหลักการสงเคราะห์ญาติ ที่ปรากฎในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท, หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ญาติ, บทบาท และอิทธิพลของการสงเคราะห์ญาติ ตลอดทั้งผลดีและผลเสียของการสงเคราะห์ญาติในสังคมไทย

     การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งเน้นวิจัยทางเอกสาร (Documentary Research) โดยผู้วิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๕ บท ในแต่ละบทนั้นมีเนื้อหาหลักดังนี้

     บทที่ ๑ บทนำ
     บทที่ ๒ ศึกษาวิเคราะห์หลักการสงเคราะห์ญาติ ที่ปรากกฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ในประเด็นความหมาย ความสำคัญ และประเภทของการสงเคราะห์ญาติ
     บทที่ ๓ ศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมที่เกี่ยวกับการสงเคราะห์ญาติ ทั้งในส่วนที่ส่งเสริมและเป็นปฏิปักษ์
     บทที่ ๔ ศึกษาวิเคราะห์บทบาทและอิทธิพลของการสงเคราะห์ญาติในสังคมไทยตลอดทั้งผลดีและผลเสียของการสงเคราะห์ญาติ
     บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัย บทวิจารณ์ และข้อเสนอแนะ

     การสงเคราะห์ญาติ หมายถึง การสงเคราะห์ญาติทางสายโลหิตทั้งหลาย ผู้ถูกความเสื่อมแห่งโภคะหรือความเจ็บป่วย เป็นต้น ครอบงำด้วยการให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ทรัพย์ และข้าวเปรือก เป็นต้น ตามกำลัง ซึ่งเป็นการแสดงมิตรภาพน้ำใจที่ดีต่อกันและกันต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย การสงเคราะห์ชนิดนี้เป็นบ่อเกิดมิตรบริวารและความสมานสามัคคี ความรักใคร่ปรองดองผูกพันฉันญาติ การสงเคราะห์ญาตินั้น มีความสำคัญและความจำเป็นอย่างมาก เป็นตัวเชื่อมประสานเครือญาติให้เกิดความรักใคร่ สามัคคีระหว่างกันและกัน และเมื่อเกิดภัยอันตรายแก่ญาติคนใด เขาสามารถพึ่งอาศัย รับการช่วยเหลือจากญาติทั้งหลายได้

     หลักการสงเคราะห์ญาติในทางพระพุทธศาสนานั้น จำแนกเป็น ๒ ประการ คือ การสงเคราะห์ด้วยอามิส และการสงเคราะห์ด้วยธรรมะ บรรดาการสงเคราะห์ทั้งสองนั้น การสงเคราะห์ด้วยธรรมะ ถือว่ามีคุณค่าสูงสุด

     พระภิกษุแม้จะได้ชื่อว่า ออกจากเรือนบวชโดยไม่มีครอบครัว หลีกหนีความวุ่นวายจากญาติทางสายโลหิต เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีภาระหน้าที่ต่อการสงเคราะห์ญาติ ที่สืบเนื่องกันมาทางสายโลหิต ตามสมควรแก่ฐานะ โดยให้ผู้เป็นญาติมีสิทธิพิเศษบางอย่าง ในกรอบของพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ และโดยการอนุเคราะห์เขา ในฐานะที่ตนเป็นเสมือนทิศเบื้องบน เช่น สอนให้เว้นจากความชั่ว แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี แม้พระพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยาเช่นกัน ชาวพุทธในฐานะเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ควรทำการสงเคราะห์ญาติตามสมควรแก่ภาวะ สถานะ และความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องของแต่ละบุคคล เช่น ในฐานะบิดา มารดากับบุตรธิดา พี่กับน้อง หรือญาติผู้ใหญ่กับญาติผู้น้อย

     หลักธรรมที่เป็นเครื่องส่งเสริม สนับสนุนในการอนุเคราะห์สงเคราะห์ญาติ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติต่อญาติอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น สังคหวัตถุ ความกตัญญูกตเวทีหลักธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการสงเคราะห์ญาติ เช่น ความตระหนี่ และความมีอคติ

     พุทธศาสนิกชนไทยได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา มาเป็นเวลาอันยาวนาน ได้ปฏิบัติตามหลักการสงเคราะห์ญาติในมงคลสูตร และถือตามแบบอย่างญาตัตถจริยาของพระพุทธเจ้า ที่มีต่อพระประยูรญาติ ทำให้สังคมชาวพุทธไทย มีความรักสมานสามัคคี มีการช่วยเหลือเผื่อแผ่ในเครือญาติเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้ ความผูกพันทางเครือญาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมไทย และถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยโดยเฉพาะ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าหลักการสงเคราะห์ญาติได้ฝังรากลึกในจิตใจของผู้คน และมีอิทธิพลต่อประเพณี วัฒนธรรมของสังคมไทย ตั้งแต่อดีตตราบเท่าปัจจุบัน


 

Download : 254602.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕