วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาพระพุทธปฏิมากรในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่สอดคล้องกับพุทธลักษณะองค์ พระปฏิมากรในสังคมไทยและ (๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลของหลักธรรมที่สอดคล้องกับพุทธลักษณะองค์พระปฏิมากรที่มีต่อสังคมไทย เป็นการวิจัยเชิงเอกสารโดยได้ศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตำราวิชาการ หนังสือ วิทยานิพนธ์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และเสนอผลการวิจัยโดยวิธีการพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า
ความเป็นมาของพระพุทธปฏิมากร พบว่า นับตั้งแต่มีการสร้างพระพุทธขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะซึ่งเป็น กษัตริย์เชื้อสายกรีก และทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากจนทรงริเริ่มให้มีการสร้างพระพุทธรูป เพื่อเป็นเครื่องระลึกนึกถึงเคารพสักการะองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การสร้างพระพุทธรูปในช่วงเริ่มต้นนี้ จะมีลักษณะ พระพักตร์เป็นแบบเทพเจ้าต่าง ๆ ของกรีกหลังจากนั้นการสร้างพระพุทธรูปก็ได้มีวิวัฒนาการในการสร้างอยู่เรื่อย ๆ ตามแต่ละยุคสมัย
การสร้างพระพุทธปฏิมากรนั้นมิได้คำนึงถึงความเหมือนเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงหลักธรรมที่สอดแทรกอยู่ในองค์พระพุทธปฏิมากรด้วย ผู้กราบไหว้สามารถรู้หลักธรรมต่างๆที่สอดแทรกอยู่ภายในพุทธลักษณะองค์พระปฏิมากร ซึ่งมีหลายประการดังนี้ พระกรรณยาว หมายถึง หลักคำสอนที่สอนในเรื่องความเชื่อว่าอย่าเชื่อง่ายอย่าหูเบาจงหูหนักอันมีบัญญัติไว้หลักคำสอนที่ชื่อว่า กาลามสูตร ๑๐ พระเกศาแหลมเป็นก้นหอย หมายถึง พระพุทธเจ้ามีปัญญาเฉียบแหลม สามารถตรัสรู้ รู้แจ้งในสิ่งทั้งปวง เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้น ส่วนเปลวไฟเหนือเศียรพระพุทธรูป หมายถึง โลกุตรธรรม แทนแสงสว่างแห่งชีวิต หลักธรรมสอนให้เราอยู่เหนือโลกได้ ให้เรามองเห็นโลกอย่างได้อย่างที่เป็นจริงอย่างถูกต้อง ส่วนพระเนตรมองทอดลงต่ำ หมายถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่สอนให้มองที่ตนเอง พัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประเสริฐ ส่วนนิ้วพระหัตถ์หรือพระบาทเสมอกัน หมายถึงความ รักความเมตตาที่พระองค์ได้มอบให้กับทุกๆ คนนั้นเสมอกัน และข้อสุดท้าย พระบาทแบนเรียบ เป็นลักษณะของ ผู้ไม่มีกิเลสตัณหาผูกมัด พ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย
อิทธิพลของหลักธรรมที่สอดคล้องกับพุทธลักษณะองค์พระพุทธปฏิมากรที่มีต่อ
สังคมไทย พบว่า อิทธิพลด้านครอบครัว ควรนำเอาหลักธรรมที่เกี่ยวกับพระกรรณยาวไปประยุกต์ใช้กับครอบครัวโดยให้มีสติพิจารณาก่อนที่จะเชื่อสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังมาตามหลักความเชื่อ ๑๐ ประการ อิทธิพลด้านสังคม ควรนำเอาหลักไตรสิกขา และอายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ โดยยึดหลักธรรมที่ปรากฏในพุทธลักษณะพระเนตรมองต่ำไปปฏิบัติในทางสังคม อิทธิพล ด้านศาสนา ควรนำหลักโลกุตรธรรม ๙ มาใช้ โดยยึดหลักลักษณะเปลวไฟเหนือเศียร อิทธิพลด้านการปกครอง ควรยึดหลักธรรม พรหมวิหาร ๔ และหลักสาราณียธรรม ๖ มาใช้ ตรงกับพุทธลักษณะที่สอดคล้องกับนิ้วพระหัตถ์และพระบาทมีความเสมอ อิทธิพลด้านการศึกษา ควรยึดลักไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา โดยนำเอาหลักธรรมที่สอดคล้องกับพุทธลักษณะ พระเกศาแหลมเป็นก้นหอย ซึ่งหมายถึงความมีปัญญาอันเฉียบแหลม รู้แจ้งในปัญหาทั้งปวงได้
Download |