หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางกรรณิการ์ ขาวเงิน
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๖ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอายตนะตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นางกรรณิการ์ ขาวเงิน ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๐๘/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อภิณัฏฐ์ กิติพันธุ์
  ผศ.ดร.สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอายตนะตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑)  เพื่อศึกษาอายตนะที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาอายตนะตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ (๓) เพื่อวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอายตนะตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ

จากการวิจัยพบว่าอายตนะที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ อายตนะแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ อายตนะภายในและอายตนะภายนอก อายตนะภายใน หมายถึงสิ่งเชื่อมต่อที่มีอยู่ตามธรรมชาติภายในตัวคน มี ๖ ประเภท คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกหรืออารมณ์ หมายถึงสิ่งเชื่อมต่อที่มีอยู่ตามธรรมชาติภายนอกตัวคน มี ๖ ประเภท คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ทำให้เกิดกระบวนการรับรู้เรียกว่า  “ผัสสะ” เกิดเป็นความรู้ ๖ ด้านคือ การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งต้องกาย รู้เรื่องในใจ ผัสสะจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นไปของชีวิต ในพระไตรปิฏกมีการอุปมาอายตนะกับสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนมากขึ้น เช่น การอุปมาอายตนะกับมหาสมุทร กับไฟ กับสัตว์หลายชนิด เป็นต้น

อายตนะตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ หมายถึง เครื่องติดต่อกันทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาได้ อายตนะแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ อายตนะภายในและอายตนะภายนอก อายตนะภายใน หมายถึงเครื่องติดต่อที่มีอยู่ประจำในร่างกายของคนทุกคน มี ๖ ประเภท คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกหรืออารมณ์ หมายถึงบรรดาสิ่งทั้งหลายในโลกอยู่ในลักษณะของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อายตนะภายในมีไว้สำหรับติดต่อกับอายตนะภายนอกหรือสิ่งทั้งหลาย ก่อให้เกิดความรู้สึกต่อเรื่องราวต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เป็นเบื้องต้นของสิ่งที่เป็นปัญหาของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน การกระทบกันของอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ทำให้เกิดกระบวนการรับรู้เรียกว่า  “ผัสสะ” ก่อให้เกิดความรู้อารมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่ประจำโลกดังนั้น การดำเนินชีวิตโดยมีสติปัญญาควบคุมผัสสะจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งพุทธทาสภิกขุยังได้อุปมาอายตนะกับสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนมากขึ้น เช่น การอุปมาอายตนะกับมหาสมุทร กับสิ่งทั้งปวง เป็นต้น

วิเคราะห์แนวคิดเรื่องอายตนะตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุจากการวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอายตนะที่ปรากฏในคำสอนของพุทธทาสภิกขุนั้น แสดงให้เห็นว่าอายตนะมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นแหล่งอำนวยให้เกิดสิ่งทั้งปวงต่อชีวิต อันได้แก่ ความทุกข์ เหตุแห่งความทุกข์ ความดับทุกข์ และการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ องค์ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้คือหัวใจพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าอริยสัจ ๔ นั่นเอง ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ เรียกว่า  “ผัสสะ” เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิต ดังนั้น มนุษย์จึงต้องอบรมจิตใจให้มีวิวัฒนาการและยกระดับขึ้นจนเกิดสติปัญญาเพื่อการคุ้มครองอายตนะให้ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องดำเนินชีวิตไปตามหนทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อนำชีวิตไปสู่นิพพานอันเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕