หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาพรสวรรค์ กิตฺติวโร (จันโปรด)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๐ ครั้ง
ศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาพรสวรรค์ กิตฺติวโร (จันโปรด) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง) ผศ.ดร.
  พระมหาอุดม สารเมธี (สารบรรณ)
  ดร. เสนาะ ผดุงฉัตร
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักการทั่วไป ๒) เพื่อศึกษาการพัฒนามนุษย์ตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ  ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้หลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน

จากการศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักทั่วไปนั้นพบว่า เป็นการพัฒนาที่มองมนุษย์ในฐานะเป็นทรัพยากร คือเป็นทุนเป็นปัจจัยในการที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของบุคลากรด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถ  ทักษะ  ทัศนคติ  และเตรียมบุคคลากรเพื่อความก้าวหน้าไปสู่ระดับสูงขึ้นให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงสุดที่เรียกว่า ทุนมนุษย์  เป็นกระบวนการที่ผู้บริหารมุ่งเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์การอย่างเต็มความสามารถ  โดยใช้ทั้งกลยุทธ์และทักษะเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และมีการวางแผนอย่างเป็นระบบต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่จะได้รับจาการพัฒนา คือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของพนักงานและประสิทธิภาพในการดำเนินขององค์การ โดยใช้วิธีการพัฒนาด้วยการให้การศึกษา  การฝึกอบรม  และการพัฒนา ตามลำดับ

                      จากการศึกษาการพัฒนามนุษย์ตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ อันเป็นการพัฒนาด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  พบว่า การพัฒนามนุษย์ในทางพระพุทธศาสนานั้น มองมนุษย์ในฐานะที่มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ของเขาเอง  ชีวิตมนุษย์นั้นมีจุดหมายของชีวิต  คือ  ความสุข  ความอิสรภาพ  ความดีงามของชีวิต  ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล  และการพัฒนาตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั้น เป็นการพัฒนามนุษย์ได้ครบทั้งกาย  วาจา และใจ  ถือได้ว่าเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา  เพราะการพัฒนามนุษย์ที่ดีจะต้องมีธรรมะเป็นพื้นฐาน อำนวยให้เกิดคุณค่าในทางมนุษยธรรม มีเป้าหมายเพื่อเป็นการแก้ปัญหาของมนุษย์ โดยมีรูปแบบการปฏิบัติรวมลงในไตรสิกขา เป็นกระบวนการพัฒนาทางร่างกาย วาจา จิต และปัญญา ที่สามารถพัฒนามนุษย์ได้ทุกระดับชั้น ระดับสังคม  เพื่อพัฒนามนุษย์ให้ได้บรรลุจุดมุ่งหมายของชีวิตและประโยชน์ต่าง ๆ

สำหรับแนวทางการประยุกต์ใช้หลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน พบว่า เป็นการนำเอาหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการพร้อมทั้งหลักธรรมที่เหมาะสมมาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมปัจจุบันใน ๔ ระดับชั้นด้วยกัน ได้แก่     ๑) ระดับปัจเจกบุคคล  ๒) ระดับครอบครัว ๓) ระดับองค์กร และ ๔) ระดับสังคม เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เพราะเนื่องจากมนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานของการกระทำที่ออกมาทางกาย วาจา และใจ  ที่ยังประกอบไปด้วย ความโลภ ความโกรธ และความหลง ในการพัฒนาตามหลักการทั่วไปนั้นไม่ได้พัฒนาในด้านของพื้นฐานของชีวิต ดังนั้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องนำหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการและหลักธรรมที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลและประโยชน์สูงสุด

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕