หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวิเชียร วชิโร (ชาอินทร์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๕ ครั้ง
การศึกษาสัมฤทธิผลของการฟังเทศน์ในงานบุญผะเหวด (เทศน์มหาชาติ) จังหวัดร้อยเอ็ด (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวิเชียร วชิโร (ชาอินทร์) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ผศ
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
  อาจารย์กฤต ศรียะอาจ
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้  มีวัตถุประสงค์  (๑)  เพื่อศึกษาความเป็นมาของงานบุญผะเหวด(เทศน์มหาชาติ)ของจังหวัดร้อยเอ็ด  (๒) เพื่อศึกษารูปแบบการเทศนาในงานบุญผะเหวด(เทศน์มหาชาติ)ของจังหวัดร้อยเอ็ด  และ (๓) เพื่อศึกษาสัมฤทธิผลในการฟังเทศน์ในงานบุญผะเหวด (เทศน์มหาชาติ) ของจังหวัดร้อยเอ็ด

ผลการศึกษาพบว่า

บุญผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ดแต่เดิมทีเป็นบุญประเพณีพื้นบ้านที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชาและเพิ่มพูนทั้งสติปัญญาอันเกิดแต่การฟังเทศนาด้วย  แต่วิวัฒนาการปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นบุญประเพณีเชิงพาณิชย์ 

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยอาศัยพิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ในการเผยแผ่ได้  ในงานบุญผะเหวดหรือเทศน์เวสสันดรชาดก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้บุคคลสนใจในพระพุทธศาสนา  ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดได้พยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมา  โดยความร่วมมือทั้งส่วนคณะสงฆ์ ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมพัฒนาบุญประเพณีดังกล่าวที่เป็นความเชื่อของคนอีสานที่มักจะกระทำในระหว่างเดือน ๓ หรือ ๔ ในทุกปี เมื่อบุญพิธีดังกล่าวได้ถูกวิวัฒนาการมาจากแรงผลักดันของภาครัฐ  งานบุญดังกล่าวจึงได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระแสเศรษฐกิจและการเมืองในระดับประเทศ  โดยเห็นได้จากยอดเงินบริจาคที่เพิ่มข้นและลดลงซึ่งเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ  และได้เชื่อมโยงระหว่างการเมืองระดับชาติกับนักการเมืองและข้าราชการในจังหวัด  เป็นการเชื่อมโยงระหว่างงานบุญพิธีทางศาสนากับสังคมและการเมืองยิ่งขึ้นทุกวัน ร่องรอยแห่งความเชื่อดั้งเดิมเริ่มถดถอยเป็นเพียงพิธีกรรมรองหรือเป็นอุปกรณ์ทางการเมืองเท่านั้น

หลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงสอนไปตามลำดับจากเรื่องง่ายไปหาเรื่องยาก จากรูปธรรมที่เห็นได้ง่ายไปสู่เรื่องนามธรรมที่มองเห็นได้ยาก มุ่งเน้นให้ภิกษุตลอดถึงคฤหัสถ์ผู้ฟังเกิดความเลื่อมใสมากขึ้นไปตามลำดับ มีจิตอ่อนโยนเหมาะสม ไม่มีนิวรณ์ เพิ่มพูนให้เกิดศรัทธาขึ้นก่อน แล้วจึงสอนหลักธรรมชั้นสูงกระทั่งผู้ฟังได้บรรลุธรรมตามสมควรแก่อินทรีย์บารมีของแต่ละบุคคล ดังจะเห็นได้จากหลักอนุปุพพิกถา ส่วนวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เหล่าพระสาวกทำสืบต่อกันมามี ๔ แนวทางใหญ่ๆ  คือ สันทัสสนา (ชี้แจงให้เห็นชัด)  สมาทปนา (ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ)  สมุตเตชนา (เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า)  สัมปหังสนา (ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง)

รูปแบบการเทศน์ผะเหวดของจังหวัดร้อยเอ็ดในยุคปัจจุบันนั้น มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน  คือการเทศน์แบบลำผะเหวด  คือ การเทศน์ตามใบลานที่นักปราชญ์ประพันธ์ไว้เป็นร้อยแก้ว  การเทศน์แบบที่สองคือการเทศน์แหล่ธรรมนองสรภัญญะ  ซึ่งผู้เทศน์นั้นต้องมีน้ำเสียงที่ดีสามารถโน้มใจผู้ฟังให้เกิดอยากทำตามโพธิสัตวจริยาได้ 

บุญผะเหวดเป็นงานบุญประเพณีที่สื่อให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจ  ร่วมรักสามัคคีของคนในชุมชนอีสานมาแต่โบราณกาล  ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ใน ๔ ด้าน คือ  ๑)ทางด้านจริยธรรม ประชาชนประพฤติตนดีงาม ๒) ด้านพฤติกรรม มีการแสดงออกทางกาย วาจา ใจดีขึ้น ๓) ด้านการศึกษา ประชาชนมีความรู้ดีขึ้น ๔) ด้านคุณภาพชีวิต ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากความสามัคคี สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นได้จากงานบุญผะเหวดนั่นก็คือ  การสร้างงานศิลปะ  อันสื่อให้เห็นถึงความละเมียดละไมทางจิตใจของผู้สร้างสรรค์งานศิลป์  เพราะศิลปะเปรียบดังภาษาที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน  บ่อเกิดของอารยธรรมแหล่งต่างๆ  ของมนุษยชาติต่างก็มีแนวโน้มที่ให้อิทธิพลสืบต่อกันมาอย่างไม่จบสิ้น

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕