หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นาย ธนศักย์ เลิศมงคลโชค
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๓ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์อภิญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นาย ธนศักย์ เลิศมงคลโชค ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชสิทธิมุนี (บุญชิต ญาณสํวโร),
  ศ. พิเศษ อดิศักดิ์ ทองบุญ
  ผศ.ดร.ประเวศ อินทองปาน
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและวิเคราะห์อภิญญาในพุทธปรัชญาเถรวาทเหตุผลที่ศึกษาเรื่องนี้เพราะผู้วิจัยเห็นว่า อภิญญาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถแสดงให้เห็นและเข้าใจหลักกรรมอันเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่การเกิดขึ้นจนถึงการส่งผลของกรรม อันเป็นวิบากต่อการดำเนินชีวิตของทุกชนชั้นในสังคม ล้วนเป็นสิ่งเข้าใจได้ยากในทางปริยัติ แต่จะเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเกิดปัญญาญาณทัศนะขึ้นจนกระจ่างแจ้งในองค์ความรู้ตามความเป็นจริง อภิญญามีส่วนส่งเสริมการเข้าถึงธรรมดังกล่าวอย่างยิ่ง

                    การศึกษาของผู้วิจัย มุ่งเน้นเพื่อศึกษาให้เห็นและเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับอภิญญาที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกและทัศนะของนักปราชญ์ร่วมสมัย พร้อมทั้งวิธีการปฏิบัติให้บรรลุอภิญญา โดยได้แสดงถึงลักษณะ ความหมาย และสภาพธรรมต่างๆ อีกทั้งความสัมพันธ์ในเชิงอภิปรัชญา ญาณวิทยาและจริยศาสตร์ต่อการปฏิบัติกรรมฐานทั้งแบบสมถกรรมฐานและแบบวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมทั้งการวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดอภิญญาขึ้น รวมไปถึงมูลฐานคือ ความเชื่อ ความจริง หรือข้อเท็จจริง อันเป็นเหตุให้รู้แจ้งในญาณอภิญญา

                    ผลจากการวิจัยทำให้ทราบว่า อภิญญามีอยู่จริง และอภิญญา ๕ ประการแรก สามารถปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการทำสมถกรรมฐานถึงขั้นฌาน และบรรลุธรรมในอภิญญาประการสุดท้ายด้วยวิปัสสนาธุระ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อบารมีที่สั่งสมมาดี ดังที่ได้แสดงไว้ในพระไตรปิฎก อรรถกถาและทัศนะของปราชญ์ร่วมสมัยท่านต่างๆ จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ ทำให้คนในสังคมที่เข้าใจผิดในเรื่องอภิญญา เมื่อได้ศึกษางานวิจัยนี้แล้วจะตื่นตัวและทำความเข้าใจได้ถูกต้อง

                นอกจากผลดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยยังพบว่าผู้ที่ได้อภิญญาและรู้จักใช้ประโยชน์ด้วยเหตุและผลโดยไม่ยึดติดหรือหลงไปในความวิเศษของอภิญญา ก็ย่อมจะมีโอกาสบรรลุธรรมด้วยกำลังแห่งอภิญญาเป็นบาทฐานต่อไปจนเข้าสู่นิพพานได้ โดยเฉพาะจริยธรรมที่ปรากฏแก่ผู้เข้าถึงอภิญญานั้นจะทำให้เกิดความสง่างาม หมดความสงสัยในเรื่องต่างๆ มีศรัทธายิ่งขึ้น และจะทำให้ทุ่มเทปฏิบัติจริงจัง อันจะทำให้มีโอกาสเข้าถึงความจริงสูงสุดได้

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕