หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาจรัญ จิตฺตสํวโร (กันธิมา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๔ ครั้ง
การศึกษาแนวคิดความเชื่อเชิงวัฒนธรรมในการสร้างปราสาทศพของชาวพุทธล้านนา (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาจรัญ จิตฺตสํวโร (กันธิมา) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปริยัติยานุศาสน์,ดร.
  พระมหาดวงจันทร์ คุตฺตสีโล, ดร.
  ผศ.ดร.เทพประวิน จันทร์แรง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อพิธีกรรมงานศพของชาวพุทธล้านนา และเพื่อศึกษาแนวคิดความเชื่อเชิงวัฒนธรรมในการสร้างปราสาทศพของชาวพุทธล้านนา โดยนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์เชิงพรรณนา

ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมงานศพสมัยพุทธกาล พบว่า ชาวอินเดียสมัยพุทธกาลได้จัดพิธีกรรมงานศพ ๒ ลักษณะ คือ การเผาศพ และการทิ้งศพ

ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมงานศพของชาวพุทธล้านนา พบว่า พิธีการจัดงานศพของชาวพุทธล้านนานั้น มีการจัดการศพ ๒ ประเภท คือ ศพของบุคคลที่ตายดี คือ ตายตามปกติธรรมดา จะมีการจัดการศพด้วยวิธีการเผาโดยมีขั้นตอนพิธีกรรมอย่างพิถีพิถัน ส่วนบุคคลที่ตายร้าย (ตายโหง)  มีการจัดพิธีศพด้วยการฝัง และไม่มีพิธีกรรมทางศาสนาตามขั้นตอนเหมือนงานศพของคนตายดี

                ประวัติความเป็นมาของการสร้างปราสาทศพของชาวพุทธล้านนา พบว่า ปราสาทศพเกิดขึ้นจากความเชื่อของคนเรา ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่มาจากศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ คือ เรื่องเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักรวาล ซึ่งเป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ส่วนในทางพระพุทธศาสนาจะเป็นเรื่องพิธีกรรมของสงฆ์ สำหรับการทำปราสาทศพไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเริ่มทำขึ้นเมื่อใด แต่หลักฐานเก่าแก่จากพงศาวดารโยนก พบว่า การใช้วิมานหรือบุษบก ซึ่งเป็นต้นแบบของปราสาทศพในปัจจุบัน มีขึ้นปลายสมัยราชวงศ์มังรายครองเมืองเชียงใหม่

                แนวคิดเชิงวัฒนธรรมในการสร้างปราสาทศพของชาวพุทธล้านนา พบว่า จากเดิม งานศพเป็นของญาติมิตร หมู่บ้านและชุมชนทั้งหมด กลายเป็นงานศพของธุรกิจขายโลงขายปราสาทศพ ขายพวงหรีด ธุรกิจของกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ และกิจกรรมซื้อขายการจัดการพิธีกรรม พัฒนาการงานศพของชาวล้านนาในสังคมสมัยใหม่ โดยทั่วไปแล้ว ยังคงมีแนวโน้มการพัฒนารูปแบบ การท้าทาย การประชันขันแข่ง การย่อส่วน และการไม่กล้าปฏิเสธบรรทัดฐานหรือประเพณีเดิม อันเป็นลักษณะค่านิยมการใช้ปราสาทศพและลากปราสาทศพในการทำพิธีปลงศพอยู่ รวมทั้งยังมีการตานตูบหรือทานเฮือนผีให้แก่ผู้ตายสืบมาจนถึงปัจจุบัน

                ความเชื่อเชิงวัฒนธรรมในการสร้างปราสาทศพของชาวพุทธล้านนา โดยเฉพาะด้านมรดกทางภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งความเชื่อเช่นนี้กลายเป็นวัฒนธรรมของคนล้านนาตั้งแต่อดีตสืบมาจนถึงปัจจุบัน ด้านความกตัญญูกตเวที  ชาวพุทธล้านนามีคติความเชื่อเชิงวัฒนธรรมที่ว่า การสร้างปราสาทศพให้แก่ผู้วายชนม์นั้น เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ตามหลักการแห่งพระพุทธศาสนา  ด้านการยกย่องเชิดชูเกียรติ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชน ครั้นล่วงลับดับสังขารก็ยกย่องเชิดชูเกียรติ ซึ่งวัฒนธรรมของคนล้านนาเกี่ยวกับพิธีศพนั้น เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกในวิถีชีวิตของคนเมืองมานานนับร้อยปี เมื่อมีคนตายจะต้องจัดงานศพขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่คนตายอย่างสมเกียรติ พิธีศพของคนล้านนาจะมีความแตกต่างจากพิธีศพของคนในภาคอื่น คือการจัดแต่งปราสาทใส่ศพประดับประดาด้วยดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้งให้แลดูสวยงาม นัยว่าเพื่อเป็นการยกย่องผู้ตายให้ได้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕