หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายสุภีร์ ทุมทอง
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๒ ครั้ง
ศึกษาการพัฒนาอินทรียสังวรในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นายสุภีร์ ทุมทอง ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร.
  อาจารย์รังษี สุทนต์
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาความหมายและความสำคัญของอินทรียสังวรในพระพุทธศาสนาเถรวาท  (๒)  เพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติอินทรียสังวรและหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง (๓) เพื่อนำเสนอวิธีปฏิบัติและประยุกต์หลักอินทรียสังวรในสังคมไทยปัจจุบัน  จากการวิจัยพบว่า

อินทรียสังวร หมายถึง การปิดกั้น การห้าม  การป้องกัน  การระมัดระวัง  ไม่ให้จิตถูกฉุดดึงออกไปสนใจอารมณ์อันจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศล   และยังหมายถึงการคุ้มครองรักษาจิตให้อยู่กับหลักอันมั่นคงไว้  ทำให้จิตรอดพ้นจากการถูกครอบงำด้วยกิเลสต่าง ๆ เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ หรือเรียกว่า ความคุ้มครองทวาร  อินทรียสังวรนั้นมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ประจำวัน ทำให้มีการฝึกจิต ทำให้เป็นผู้มีศีลดี ทำให้ชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  และมีความสำคัญต่อการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น โดยเป็นหมวดธรรมในภาคปฏิบัติ เป็นเหตุทำให้สุจริต ๓ สมบูรณ์  เกิดสมาธิ  เกิดปัญญา จนถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์ได้  

อินทรียสังวรมีประโยชน์ ทำให้ได้รับความสุขอันประณีตปราศจากกิเลสรบกวน และเป็นประโยชน์ต่อการฝึกปฏิบัติในธรรมวินัย สำหรับพระภิกษุสามเณรก็มีประโยชน์มาก ทำให้สามารถอยู่ในเพศพรหมจรรย์ได้นาน เป็นเหตุให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย มีคุณธรรมต่าง ๆ เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยม หากขาดอินทรียสังวรแล้ว จะนำความทุกข์มาให้มากมาย และมีอกุศลวิตกเข้ามารบกวนมากจนอยู่ไม่เป็นสุข  สำหรับพระภิษุก็ทำให้กลายเป็นผู้มัวเมาในกามคุณ ๕  เป็นเหตุให้ต้องลาสิกขาไป  เสื่อมจากประโยชน์ที่มุ่งหมายจากการบวช  เมื่อตายไปก็เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้          

 

วิธีปฏิบัติอินทรียสังวรอันยอดเยี่ยมในพระธรรมวินัยนั้น พระพุทธองค์ทรงมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาอินทรีย์ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คือ มีปัญญาเห็นความจริงของสังขารทั้งปวง เรียกว่าอินทรียภาวนา  องค์ธรรมหลักที่ใช้ในการฝึกหัด คือ มีสติ  มีความรู้ตัว  ไม่หลงลืม   เตรียมพร้อมอยู่เสมอ  อุบายวิธีในการฝึกให้มีอินทรียสังวร เช่น การปฏิบัติกรรมฐาน การไม่ยึดถือนิมิตและอนุพยัญชนะ เลือกอารมณ์  หลบหลีกอารมณ์  เผชิญหน้าอย่างมีสติ การปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด และโยนิโสมนสิการ เป็นต้น  อินทรียสังวรนั้นมีความเกี่ยวข้องกับหลักธรรมอื่น ๆ เช่น ไตรสิกขา  ปฏิจจสมุปบาท  และสติปัฏฐาน เป็นต้น

แนวทางในการนำหลักอินทรียสังวรมาประยุกต์ในสังคมไทย คือ ให้ใช้ตา หู จมูก ลิ้น  กาย และใจอย่างถูกต้อง  มีความสำรวมระวังทางทวารทั้ง ๖  ไม่หลงยินดียินร้ายไปตามอารมณ์ รู้จักบังคับควบคุมตนเอง ไม่ทำตามความอยากและกิเลสต่าง ๆ  เริ่มต้นด้วยการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เกิดสัมมาทิฏฐิ รู้จักความจริงและวิธีปฏิบัติต่อความจริงตามหลักอริยสัจ  รู้จักสุขที่ควรกลัวและไม่ควรกลัว ส่งเสริมการปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อพัฒนาจิต และให้การศึกษาที่ถูกต้อง

Downlond

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕