หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวรสสุคนธ์ ยมกนิษฐ์
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๙ ครั้ง
ศึกษากระบวนการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนา (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวรสสุคนธ์ ยมกนิษฐ์ ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร.
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

ทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ทางตะวันตก  เป็นการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์อย่างเป็นระบบด้วยการทดลองที่เป็นรูปธรรมทางวิทยาศาสตร์  โดยมีแนวความคิดว่ากระบวนการเรียนรู้เกิดจากองค์ประกอบ คือ สิ่งเร้า อวัยวะรับสัมผัส ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย  ประสบการณ์เดิม  และการแปลความหมายจากสิ่งที่ได้รับสัมผัส  เมื่อมนุษย์ได้รับสิ่งเร้าสมองจะทบทวนกับประสบการณ์เดิมว่าความรู้สึกจากการรับสัมผัสนั้นคืออะไร ทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าตามที่ได้รับรู้  เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เกิดเป็นการรับรู้และทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเผชิญกับสิ่งเร้าใหม่สมองจะมีการค้นข้อมูลจากประสบการณ์เดิม  ถ้าหาพบเรียกว่าจำได้  ถ้าหาไม่พบเรียกว่าการลืม  ดังนั้นสมองจึงเป็นศูนย์กลางของความคิด  และเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ของมนุษย์

               พระพุทธศาสนามีแนวความคิดว่า  กระบวนการเรียนรู้เกิดจากองค์ประกอบ คือ อายตนะภายใน ได้แก่  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  อายตนะภายนอก  ได้แก่  รูป เสียง กลิ่น รส  สิ่งที่ถูกต้องกาย (โผฏฐัพพะ) อารมณ์ที่เกิดกับใจ (ธรรมารมณ์) และวิญาณ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกัน  เมื่อองค์ประกอบทั้งสามดังกล่าวประจวบพร้อมกันจึงเกิดเป็นผัสสะ ผัสสะจึงเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของมนุษย์ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่าน    เข้ามาทางอายตนะจะเป็นข้อมูลหรือความรู้ได้ต้องผ่านการแปลความหมายด้วยจิต             โดยประมวลผลจนเกิดเป็นความรู้และสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว พระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับจิตและการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นสภาวะเฉพาะของจิตที่ไม่สามารถ ชั่ง ตวง วัด ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่น ความโกรธ ความพอใจ ปีติ ฯลฯ

          ผลของการศึกษากระบวนการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาพบว่า  พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการมองชีวิตตามหลักอริยสัจ ๔ ว่าทุกข์หรือปัญหาของชีวิตเกิดจากกิเลส  ตัณหา ซึ่งเป็นผลมาจากผัสสะ การดับตัณหาสามารถดับได้ด้วยสติ  และสติจะเกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการฝึกฝนอบรมตนใน ๓ ด้าน ได้แก่  อบรมตนด้านศีล สมาธิ และปัญญา โดยมีปัจจัยเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้ตามแนวศรัทธา ซึ่งมีกัลยาณมิตรแนะแนวในการคิดวิเคราะห์พิจารณาและนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้  จากนั้นบุคคลจึงนำตนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติและคิดวิเคราะห์พิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นอิสระด้วยโยนิโสมนสิการ เมื่อบุคคลมีโยนิโสมนสิการ สัมมาทิฏฐิก็จะเกิดขึ้นตามมา ทำให้องค์ธรรม (องค์มรรค) ในกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นและสัมพันธ์เป็นกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสัมพันธ์กับองค์ธรรมที่เกื้อหนุนให้การเรียนรู้บรรลุจุดมุ่งหมาย คือ  ปัญญาวุฑฒิธรรม ๔  อินทรีย์ ๕ พละ ๕  ซึ่งส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้พัฒนาไปตามลำดับขั้นในวิสุทธิ ๗  ซึ่งสิ่งที่ใช้ตรวจสอบ      ความถูกต้องของกระบวนการเรียนรู้ คือ มนุษย์สามารถใช้อายตนะภายในตัวมนุษย์เองสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างถูกต้อง ระวังไม่ให้กิเลสครอบงำจิตใจเมื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ

          การเรียนรู้จึงเป็นการใช้อายตนะภายในตัวมนุษย์เองสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องและต้องประกอบด้วยโยนิโสมนสิการและสัมมาทิฏฐิ  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการแสดงออกทางกาย วาจา  รวมถึงการสำรวมใจไม่ให้กิเลสเข้าครอบงำ เป็นการเริ่มความสัมพันธ์ทางสังคมหรือการเรียนรู้ภายนอกตัวบุคคลเข้าไปหาภายในตัวบุคคล  ส่งผลต่อความสัมพันธ์ด้านจิตใจ  อันเป็นความสงบภายใน  เป็นการฝึกฝนอบรมจิตให้พ้นจากกอำนาจกิเลส  ตัณหา  อุปาทานด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา  จนพัฒนาไปสู่ปัญญาที่ถูกต้องตามหลักอริยสัจ ๔  ซึ่งเป็นความรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง จนสามารถทำลายกิเลสและหลุดพ้นจากความทุกข์ ความสัมพันธ์ทางพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาดังกล่าวมีบทบาทต่อการพัฒนามนุษย์ให้เจริญงอกงามใน ๔ ด้าน คือ กาย ศีล จิต และปัญญา อันนำไปสู่จุดหมายของชีวิตตามความพร้อมของบุคคล ได้แก่ จุดหมายปัจจุบัน จุดหมายเบื้องหน้า และจุดหมายสูงสุด

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕