หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิทยา ญาณสาโร (คุ้มราษฎร์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๘ ครั้ง
การศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท(๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระวิทยา ญาณสาโร (คุ้มราษฎร์) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู, ดร.
  ศ.ดร. กาญจนา เงารังษี
  นายวัฒนะ กัลยาณ์พัฒนกุล
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในทรรศนะของนักคิดไทย ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อประยุกต์หลักพุทธธรรม กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสังคมปัจจุบัน โดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสารคือคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและฉบับแปล ตลอดถึงเอกสาร ตำราวิชาการ ผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้น นำข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในเอกสารข้างต้นมาศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์และเสนอแนะ ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า

            เศรษฐกิจพอเพียงได้แก่เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี พออยู่ พอกิน พอใช้  เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง อยู่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อน โดยต้องสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน คือ ตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ไม่ใช่มุ่งหวังแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นไป

                  หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีความสอดคล้องกับพุทธธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท กล่าวคือ มีความขยันหมั่นเพียร ในการปฏิบัติหน้าที่ การงานและการประกอบอาชีพที่สุจริต ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตราหาวิธีการที่เหมาะสมที่ดีจัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี รู้จักคุ้มครอง เก็บ รักษาโภคทรัพย์ และผลงานที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย คบหาคนดีเป็นมิตร ไม่คบไม่เอาอย่างผู้ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เลือกเสวนาศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ ผู้มีความสามารถ ผู้นำเคารพนับถือและมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่อาชีพทางการงาน รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเป็นอยู่พอดีสมรายได้ มิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักพุทธธรรม คือ หลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาอันเป็นหลักการดำเนินชีวิตให้เกิดความพอเพียงอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมอันเป็นหลักจริยธรรมที่ดีงาม สอนให้รู้จักความพอดี พออยู่ พอกิน

            ส่วนการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมกับเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในสังคมไทยนั้น พบว่า มีการประยุกต์ใช้ทั้งในระดับนโยบาย ระดับองค์กร และระดับบุคคล โดยในระดับนโยบายนี้ มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ – ๑๐ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ ในระดับองค์กร พบว่า มีหลายหน่วยงานนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เช่น สำนักงานประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกระทรวงต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนในระดับบุคคล พบว่า มีการประยุกต์ใช้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันของตนเอง เช่น ชุมชนวัดพระราม ๙ เป็นต้น

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕