หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาดวงรัตน์ ฐิตรตโน
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๐ ครั้ง
อิทธิพลของธัมมปทัฏฐกถาเรื่องอายุวัฒนกุมารต่อประเพณีสืบชะตาของล้านนา(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาดวงรัตน์ ฐิตรตโน ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล
  พระมหาสง่า ธีรสํวโร
  ดร.ชัยณรงค์ ศรีมันตะ
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

               งานวิจัยเล่มนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของธัมมปทัฏฐกถาเรื่องอายุวัฒนกุมารต่อพิธีกรรมการสืบชะตาของชาวล้านนาและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเพณีการสืบชะตาของชาวล้านนาตลอดถึงสาระสำคัญของการสืบชะตา
                จากการศึกษาพบว่า พิธีกรรมการสืบชะตาของชาวล้านนาได้รับอิทธิพลจากธัมมปทัฏฐกถาเรื่องอายุวัฒนกุมาร จากความเชื่อที่ว่าการประกอบพิธีสืบชะตาโดยการอาราธนาพระสงฆ์มาสวดพระปริตร การประกอบพิธีกรรม และอาศัยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย ตลอดถึงการบำเพ็ญบุญกิริยาต่างๆ ในพิธีกรรมการสืบชะตาจะส่งผลให้เกิดความเป็นสิริมงคลเกื้อหนุนให้มีอายุยืนยาว มีความเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิต ชาวล้านนาจึงนิยมประกอบพิธีกรรมมาจนถึงปัจจุบัน
การสืบชะตาในล้านนาแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทคือ
            ๑. การสืบชะตาคนและสัตว์ เพื่อที่จะทำให้ตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร บริวาร อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัย ความกังวลต่างๆ 
            ๒. การสืบชะตาบ้าน เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่บ้านหรือกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้าน
เป็นวิธีการที่ทำให้จิตใจของผู้อยู่อาศัยเชื่อมั่นได้ว่าเมื่อยู่อาศัยแล้ว จะทำให้เกิดความสุข ความเจริญ และเป็นมงคลแก่ชีวิต 
            ๓. การสืบชะตาหมู่บ้าน เพื่อขับไล่สิ่งอันเป็นอัปมงคลหรือเสนียดจัญไรในหมู่บ้าน และเพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
สร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่บ้าน ๔. การสืบชะตาเมือง เพื่อต้องการให้บ้านเมืองประสบกับความสุขความเจริญรุ่งเรือง
อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและเป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดในบ้านเมือง
ประเพณีสืบชะตายังเป็นกิจกรรมส่งเสริมให้คนกระทำความดี ก่อให้เกิดบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ตามหลักของพระพุทธศาสนา ได้แก่
           ๑.ทานมัย คือ บุญเกิดจากการให้ทาน 
           ๒. สีลมัย คือ บุญเกิดจากการรักษาศีล 
           ๓. ภาวนามัย คือ บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
           ๔. อปจายนมัย คือ บุญเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ 
           ๕. เวยยาวัจจมัย คือ บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ 
           ๖. ปัตติทานมัย คือ บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ 
           ๗. ปัตตานุโมทนามัยคือ บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ
           ๘. ธัมมัสสวนมัย คือ บุญเกิดจากการฟังธรรม 
           ๙. ธัมมเทสนามัย คือ บุญเกิดจากการแสดงธรรม
           ๑๐. ทิฏฐิชุกัมม์ คือ การทำความเห็นถูกหลักทำนองครองธรรม
บุญกิริยาวัตถุเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมการสืบชะตาของล้านนาอย่างครบถ้วน
นอกจากนี้พิธีกรรมการสืบชะตายังได้สาระสำคัญในด้านจิตวิทยา คือ ให้เกิดความสบายใจ
เกิดกำลังใจ มีความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยจากความกลัวต่างๆ มีความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตต่อไปได้  ด้านสังคมวิทยา คือ เป็นวิธีการเยียวยาให้คนในสังคมสามารถเผชิญกับปัญหาในการดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาร่วมกันด้วยความสามัคคีกลมเกลียวของคนในสังคม ด้านมานุษยวิทยา คือ การหล่อหลอมคติความเชื่อ ค่านิยม การแสดงออก จนกลายเป็นพลังของสังคม และด้านประเพณีพิธีกรรมเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ในวิถีชีวิตเป็นการแสดงออกที่มีแบบแผนและเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาพิธีกรรมการสืบชะตาในล้านนาที่ปฏิบัติกันจนถึงปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากธัมมปทัฏฐกถาเรื่องอายุวัฒนกุมาร ๓ ด้าน คือ
            ๑.อิทธิพลด้านความเชื่อ คือ ความเชื่อเรื่องอานุภาพของพระรัตนตรัย ความเชื่อในเรื่องกรรม ความเชื่อในเรื่องมงคล และความเชื่อในเรื่องเจ้ากรรมนายเวร
             ๒. อิทธิพลด้านพิธีกรรม คือ การจัดเตรียมสถานที่ เครื่องประกอบพิธี การนิมนต์พระสงฆ์สวดพระปริตร
             ๓. อิทธิพลด้านบุญกิริยา คือ ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย อปจายนมัย ปัตติทานมัย ธัมมัสสวนมัย ธัมมเทสนามัยพิธีกรรมสืบชะตาในล้านนาถือได้ว่าเป็นกิจกรรมทางศาสนา ที่ส่งเสริมกุศลกรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ผู้วิจัยเห็นว่าการประกอบพิธีกรรมสืบชะตานั้นถ้าจะให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ควรจะประกอบพิธีด้วยศรัทธาและปัญญา หากประกอบพิธีด้วยศรัทธาเพียงอย่างเดียวอาจจะเป็นไปในทางงมงาย และยึดติดอยู่เพียงรูปแบบพิธีกรรม แต่ถ้าประกอบด้วยปัญญาแล้วจะทำให้เข้าถึงหลักศาสนา อันเป็นสาระสำคัญที่แฝงอยู่ในพิธีสืบชะตา

 

Download :  255051.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕