หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมชาย สุภาจาโร (เกิดผลวัฒนา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๒ ครั้ง
กุศโลบายในพระพุทธศาสนามหายาน : กรณีศึกษาสัทธรรมปุณฑรีกสูตร(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระสมชาย สุภาจาโร (เกิดผลวัฒนา) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ผศ.สุมาลี มหณรงค์ชัย
วันสำเร็จการศึกษา : ๓ ธันวาคม ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องกุศโลบาย
ในพระพุทธศาสนามหายาน เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการสอนโดยใช้กุศโลบายในคัมภีร์
สัทธรรมปุณฑรีกสูตร และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกุศโลบายกับจริยธรรม
ผลการวิจัยพบว่า กุศโลบายในพระพุทธศาสนามหายานนั้น เป็นวิถีหรือวิธีดำเนินงาน
อันหลากหลายในทางพระศาสนา ที่ปรับให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของปัญหา และอุปนิสัยของหมู่สัตว์ มีเป้าหมายเพื่อให้สรรพสัตว์พัฒนาคุณงามความดี และบรรลุถึงสิ่งที่ดีงามสูงสุดสำหรับชีวิต หรือพูดอีกแบบหนึ่งได้ว่า เป็นวิธีการสอนธรรมแบบพลิกแพลง หรือปรับคำสอนให้เหมาะกับระดับของผู้ฟัง โดยคำนึงถึงความสามารถ ระดับปัญญา และศักยภาพของผู้รับคำสอน ให้สามารถเข้าใจและได้รับประโยชน์สูงสุด คือ การมุ่งไปสู่ความเป็นพระพุทธเจ้ากุศโลบายเป็นคุณสมบัติสำคัญ ที่ทำให้สรรพสัตว์กลายเป็นพระโพธิสัตว์ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือของพระโพธิสัตว์ ในการพัฒนาศักยภาพของตนให้ก้าวไปสู่ความเป็นพระพุทธเจ้าและช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง นอกจากนี้มหายานยังนำมาเป็นเครื่องมือในการสมานเชื่อมโยงคำสอนที่แตกต่างกันให้มารวมอยู่ในจุดหมายเดียวคือโพธิญาณ ซึ่งเป็นการพยายามลดความขัดแย้งทางคำสอน และใช้ในการเชิดชูคำสอนนิกายของตน ให้โดดเด่นกว่านิกายอื่นๆ อีกด้วยคัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตร แสดงให้เห็นถึงรูปแบบและวิธีการใช้กุศโลบายของมหายานได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีอยู่ ๓ รูปแบบ คือ

     ๑) รูปแบบทั่วไป ได้แก่ นิทานเปรียบเทียบ
การอุปมาอุปไมย การยกอุทาหรณ์ การแสดงเหตุผล

     ๒) รูปแบบที่ใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
      ๓) รูปแบบที่เป็นความลึกลับมหัศจรรย์ อันเป็นวิสัยเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น เช่น เรื่องเอกยานนิพพาน ๒ ชนิด และการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า กุศโลบายรูปแบบนี้ถือเป็นลักษณะพิเศษของมหายานส่วนความหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดจริยธรรมในแง่ของการพูดเท็จของการใช้กุศโลบายทั้ง ๓ กรณี คือ เรื่องเอกยาน นิพพาน ๒ ชนิด และการปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ปรากฏว่าไม่เป็นการล่วงละเมิดต่อจริยธรรมตามเกณฑ์ตัดสินของเถรวาท เพราะเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสทั้งหลาย เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เหล่าสรรพสัตว์ และมีลักษณะคล้ายกับประโยชน์นิยมในแง่ของการมุ่งผล คือ ประโยชน์สุขของมหาชนเป็นหลัก

 

 

Download :  255121.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕