หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายทรงวิทย์ แก้วศรี
 
เข้าชม : ๒๐๐๖๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ยุทธวิธีในการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : นายทรงวิทย์ แก้วศรี ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์
  อาจารย์ ดร. อำนาจ บัวศิริ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

                 การศึกษาวิเคราะห์ยุทธวิธีในการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบว่า ยุทธวิธีตามทฤษฎีการบริหารสมัยใหม่แบบตะวันตกนั้น ถ้ายึดเอาทฤษฎีเหล่านี้เป็นกรอบความคิด เมื่อเทียบเคียงแล้วทฤษฎีดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธวิธีการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้าหรือไม่เพียงไร เพราะวิธีการของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นก่อน ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
                ผลแห่งการวิจัยพบว่า หลักการบริหารสมัยใหม่ตามรูปแบบการบริหารเชิงยุทธวิธีนั้นสอดคล้องกันกับวิธีการของพระพุทธเจ้าที่ทรงใช้มาก่อนแล้วทั้งสิ้น วิธีการของพระองค์เป็นวิธีการปฏิบัติจริง เรียบง่าย กระชับรัดกุม ตรงประเด็น สามารถจัดการแก้ปัญหาการบริหารได้ทุกเรื่องอย่างได้ผล มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะทุกกระบวนความคิดของพระองค์เป็นระบบและสมเหตุสมผล
               จากสมมุติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ตามวัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีข้อเท็จจริงและหลักฐานตามคัมภีร์พระพุทธศาสนายืนยันว่า
               ๑. พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา ด้วยพระปรีชาสามารถและพระกุศโลบายอันแยบยลลึกซึ้ง ยุทธวิธีของพระองค์นั้นเมื่อเทียบเคียงแล้วแสดงว่าทฤษฎีการบริหารเชิงยุทธวิธีของตะวันตกมาสอดคล้องกับวิธีการของพระพุทธเจ้าโดยมิมีข้อสงสัย ทั้งวิธีการของพระพุทธองค์มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุดด้วย
                ๒. ตามหลักการวิเคราะห์สว้อท (SWOT Analysis) ของตะวันตก แยกการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมออกเป็น ๒ คือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อหาโอกาสและภยันตรายและการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน เพื่อหาจุดแข็งและจุดอ่อน พระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์โดยรวมทุกสภาพแวดล้อม ในการวิเคราะห์นั้น ผู้วิจัยจำแนกสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ออกเป็น ๓กลุ่มคือ สภาพแวดล้อมทางศาสนา สภาพแวดล้อมทางการเมืองการปกครอง และสภาพแวดล้อมทางสังคม พระพุทธเจ้าทรงทราบจุดแข็ง, จุดอ่อน, ภยันตราย และโอกาสช่องทางได้เป็นอย่างดี จึงทรงสามารถนำพระพุทธศาสนาชำแรกแทรกขึ้นในหมู่ประชาชนชาวชมพูทวีป จนประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้มั่นคงภายในเวลาเพียง ๔ ปี
              ๓. ผลของการศึกษาวิจัยพบว่า กระบวนการคิดออกมาเป็นทฤษฎีระหว่างตะวันตกกับพระพุทธเจ้าแตกต่างกัน ตะวันตกหรือสามัญชนทั่วไปนั้นคิดตั้งทฤษฎีจากปัญญาคือความรู้แค่๒ ประการ ได้แก่จินตามยปัญญาและสุตมยปัญญา จึงเป็นการตั้งสมมุติฐานแล้วคิดหาวิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยคาดคะเนเอาว่าจะต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งอาจไม่แน่นอน แต่พระพุทเจ้าทรงคิดค้นทฤษฎีจากภาวนามยปัญญา ได้ผ่านการทดลองปฏิบัติการจนเห็นผลมาแล้ว จึงทรงนำมาประมวลสรุปเป็นทฤษฎี อาจจะกล่าวได้ว่าตะวันตกคิดทฤษฎีต่าง ๆ ได้เพียงแค่ “ทฤษฎี”(Theory) แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงคิดได้ถึงขั้นเป็น “ทฤษฎีบท” (Theorem)
              ๔. ยุทธวิธีการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกขั้นตอน สามารถนำหัวข้อธรรมมาใช้เป็นหลักควบคู่กันไปได้อย่างกลมกลืน กล่าวคือ การคิดใช้โยนิโสมนสิหาร, การตัดสินใจใช้ปริญญา ๓ อธิษฐานธรรม ๔ และปปัญจธรรม ๓, การวางแผนใช้โกศล ๓ และสัมมัปปธาน ๔,การบริหารใช้อิทธิบาท ๔ พละ ๔ และทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔, ภาวะผู้นำใช้อัตตหิตสมบัติ ปรหิตปฏิบัติ และยุทธการแบบทหารมืออาชีพตามที่ตรัสไว้ในโยธาชีวสูตร
             ๕. ยุทธวิธีของพระพุทธเจ้านั้น สามารถบูรณาการออกมาใช้กับการดำเนินงานทั่วไปในองค์การต่างๆ ในที่นี้ได้แสดงเป็นรูปแบบไว้ ๓ รูปแบบคือ “ แบบตรีกรรม”, “แบบ
จตุราริยสัจ”, และ “แบบรัตนตรัย” แต่ละแบบแสดงด้วยแผนภูมิให้เห็นวิธีการและขั้นตอนอย่างชัดเจน สุดท้ายได้แสดงตัวอย่างการบูรณาการยุทธวิธีแบบพุทธวิธี ใช้กับห้องสมุดและสถาบันวิทยบริการ “แบบรัตนตรัย” เพื่อเป็นแบบอย่างแก่องค์การต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ ในฐานะเป็น
“องค์ความรู้ใหม่” ต่อไป.

 


Download :  255138.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕