หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสิริกิจจาภรณ์ (เสริม กตกิจฺโจ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
โสสานิกธุดงค์ในพระพุทธศาสนา : กรณีศึกษา หลวงพ่อเกษม เขมโก ( ๒๕๔๙ )
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสิริกิจจาภรณ์ (เสริม กตกิจฺโจ) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
  ดร.เทพประวิณ จันทร์แรง
  นายบัณฑิต รอดเทียน
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ / กันยายน / ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาโสสานิกธุดงค์ในพระพุทธศาสนา : กรณีศึกษา หลวงพ่อเกษม เขมโก
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสำ คัญของธุดงค์ในฐานะฝึกฝนตนเองและเผยแผ่พระพุทธศาสนา และศึกษาโสสานิกธุดงค์ของหลวงพ่อเกษม เขมโก ในฐานะเป็นการฝึกฝนตนเองและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยทำการศึกษาจากข้อมูลเอกสาร หนังสือประวัติชีวิตของหลวงพ่อเกษม และสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ
 

              ผลจากการวิจัยพบว่า หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษามาตั้งแต่เด็กกระทั่งบรรพชาเป็นสามเณรก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความตั้งใจ และพออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วก็ได้สานต่อด้วยการศึกษาพระธรรมวินัยควบคู่ไปกับการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยการปฏิบัติธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด คือ โสสานิกธุดงค์ ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตรตลอดชีวิต ท่านได้ศึกษาการปฏิบัติธุดงค์จากครูบาแก่น แห่งวัดประตูป่อง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จากนั้นก็ได้ศึกษาและปฏิบัติตนอยู่ในธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด ออกปฏิบัติโสสานิกธุดงค์ตามป่าช้าต่าง ๆ ครั้งแรกอยู่ที่ป่าช้าศาลาวังทาน จากนั้นก็ได้ย้ายไปอยู่ในป่าช้าอื่น ๆ ซึ่งเห็นว่ายังไม่สงบพอเพราะมีผู้คนคอยติดตามไปปรนนิบัติรับใช้ จนกระทั่งมาอยู่ที่ป่าช้า สุสานไตรลักษณ์(ศาลาดำ) หรือเดิมเรียกว่า สุสานประตูม้า ซึ่งหลวงพ่อเกษม ได้ใช้ชีวิตปฏิบัติโสสานิกธุดงค์ ณ ที่แห่งนี้ตลอดชีวิตด้านปฏิปทาจริยาวัตรของหลวงพ่อเกษม เขมโก กล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพและปฏิปทาจริยาวัตรที่งดงาม สามารถปฏิบัติตนด้วยธุดงควัตร ข้อโสสานิกธุดงค์ คือถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ปฏิบัติขัดเกลากิเลสตนเองด้วยวิธีการที่เคร่งครัดตามหลักการของการถือธุดงค์ขั้นอุกฤษฏ์ เป็นพระนักปฏิบัติที่มีอัธยาศัยอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวด บำเพ็ญตนอยู่ในเมตตากรุณาในพรหมวิหารธรรมอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นปฏิปทาจริยาวัตรที่โดดเด่นและสง่างามยิ่งหลวงพ่อเกษม เขมโก ฝึกฝนตนเองด้วยการปฏิบัติโสสานิกธุดงค์อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติทั้ง
สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ใช้วิธีการเพ่งเตโชกสิณ และพิจารณาอสุภกัมมัฏฐานเป็นที่ตั้งและปฏิบัติทุกวิถีทางอย่างเคร่งครัดเพื่อที่จะทำให้กิเลสเบาบางและเหือดแห้งไปในที่สุด ซึ่งหลวงพ่อเกษม ก็ทำได้ปฏิบัติได้ดังเป็นที่ปรากฏชัดแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งอันเป็น ผลมาจากการได้ฝึกฝนตนเองด้วยวิธีการปฏิบัติโสสานิกธุดงค์ ก็คือ หลวงพ่อเป็นคนมักน้อยสันโดษ ชอบความสงัด มีความเพียรแรงกล้า ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้องไม่มุ่งลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นผู้บวชด้วยศรัทธาปรารถนาจะพ้นจากชาติ ชรา และมรณะ และย่อมทำให้ท่านได้รับอานิสงส์แห่งการปฏิบัติธุดงควัตรเพิ่มเป็นทวีคูณ นอกจากนี้ ผลอันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติ จึงทำให้ท่านได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งท่านใช้วิธีการเผยแผ่ง่าย ๆ คือ
(๑) การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง
(๒) การแสดงพระธรรมเทศนาโดยยกมิลินทปัญหาเป็นตัวอย่าง
(๓) การสอนเป็นรายบุคคล
(๔) การสอนแบบอุปมาอุปไมย
(๕) การใช้ปฏิภาณโต้ตอบด้วยมุขขำขัน
(๖) การตอบปัญหาธรรมะ
(๗) การสนทนาธรรม
(๘) การเผยแผ่ด้วยอัตตโนภาษิตที่ท่านลิขิตขึ้นด้วยตนเอง

 

Download :  254971.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕