หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาปรม โอภาโส (กองคำ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์ศรัทธาชาวพุทธไทยในปัจจุบัน (๒๕๔๒)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาปรม โอภาโส (กองคำ) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ)
  ดร.สุรพล สุยะพรหม
  ดร.สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๒
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ผู้วิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำการศึกษาแนวความคิดเรื่องของศรัทธา คือ ความเชื่อของชาวพุทธที่มีอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ โดยได้ศึกษารวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎกและตำราอื่น ๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความคิดความเชื่อเรื่องศาสนา ปรัชญา วัฒนธรรมประเพณี และวิธีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงชาวพุทธไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะนำเสนอทฤษฎีความเชื่ออันเป็นการยืนยันถึงทัศนะความเชื่อของชาวพุทธที่มีอยู่จริง ทั้งในแง่ของรูปธรรมและ นามธรรม โดยการนำเสนอเพื่อจะได้เป็นแนวทางเรื่องของความคิดความเชื่อที่ถูกต้องให้แก่ชาวพุทธไทยต่อ ๆ ไป

          ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งหัวข้อของการศึกษาออกไว้เป็น ๕ บท โดยเริ่มศึกษาจากหลักของศรัทธาในพระพุทธศาสนาเถรวาท และเน้นไปที่กลุ่มของผู้ที่มีความคิดความเชื่อต่าง ๆ ตามยุคตามสมัย ตามแนวความคิดความเชื่อของกลุ่มชนนั้น จนถึงแนวความคิดความเชื่อของกลุ่มชาวพุทธไทยในปัจจุบัน ศึกษาแนวความคิดความเชื่อแบบพุทธที่มีความประสมประสานกันระหว่างแนวความคิดความเชื่อแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะแนวความคิดความเชื่อแบบไสยศาสตร์ เป็นต้น

          แนวความคิดความเชื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนทุกยุคทุกสมัยมาจนปัจจุบันว่า มีความคิดความเชื่อในการดำเนินชีวิตประจำวันจนกลายมาเป็นภูมิปัญญา และประเพณีวัฒนธรรมสืบต่อมาจนถึงคนรุ่นใหม่และต่อ ๆ ไปอย่างไร

          ผลของการศึกษาพบว่า    มีคัมภีร์พระไตรปิฎกที่มีเรื่องของศรัทธาอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาตพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ ได้กล่าวถึงสัทธาสัมปทา อังคุตตนิกาย จตุกกนิบาตพระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ ได้กล่าวถึง สมสัทธา อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาตพระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๒ ได้กล่าวถึงศรัทธา ความเชื่อที่มีเหตุผลยึดมั่นในหลักการกระทำดี กล่าวโดยสรุปแล้ว หลักของศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้มุ่งไปที่ความเชื่อที่ยึดหลักกรรม คือ การทำดีทำชั่ว ผลของกรรมดีและชั่ว เป็นต้น

          ในคัมภีร์อื่น ๆ ที่ได้แสดงความคิดความเชื่อของคนในกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มชนชาวไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ในคัมภีร์มิลินทปัญหาได้พูดถึงศรัทธาว่า มีลักษณะทำจิตให้ผ่องใสและมีลักษณะจูงใจ ในคัมภีร์ภูมิวิลาสินีได้พูดถึงความคิดความเชื่อเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด นรกสวรรค์และเทวดา เป็นต้น

          การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลจากตำราที่เกี่ยวข้องกับลัทธิปรัชญา และศาสนา ตลอดถึงวัฒนธรรมประเพณีที่มนุษย์มีความเชื่อ และเป็นวิถีชีวิตของกลุ่มชนนั้นแล้วแยกประเด็นแนวความคิดความเชื่อออกเป็น ๒ ประเภท คือ

          ๑. ประเภทพุทธศาสตร์ คือ กลุ่มผู้ที่ใช้เหตุผล ใช้ปัญญาพิจารณาถึงความเชื่อของตนว่า จะมีลักษณะของความเชื่ออย่างไร มีประโยชน์ต่อตนต่อกลุ่มชนของตนอย่างไร

          ๒. ประเภทไสยศาสตร์  คือ กลุ่มผู้ที่ไม่ต้องการมีเหตุผลเกี่ยวกับแนวความคิดความเชื่อ เพียงตรงตามความรู้สึกของตนก็ตัดสินใจเชื่อแล้ว โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากไสยศาสตร์นั้น

          ในเรื่องนี้ ผู้วิจัยมีความเห็นว่า แม้ว่ากลุ่มชนจะมีทัศนะเกี่ยวกับความคิดความเชื่อแตกต่างกัน แต่ก็มีการผสมผสานกันอยู่หลายประการ จนบางครั้งแทบจะแยกกันไม่ออกและก็เป็นสภาวะทางจิตใจเพราะเรื่องของความเชื่อทั้ง ๒ ประเภท มีเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พระพุทธศาสนามีความสำคัญมุ่งไปในพระสัทธรรม คือ ปริยัติ  ปฏิบัติและปฏิเวธ ส่วนไสยศาสตร์นั้นหันหลังให้พระสัทธรรมจะไม่สามารถนำมาเป็นข้อพิสูจน์ใด ๆ ได้ แต่เมื่อนำศรัทธาในพระพุทธศาสนามาเป็นประเด็นแล้ว ก็สรุปลงได้ตรงที่มีจุดมุ่งหมายไปเพื่อปัญญานั้นเอง
 

Download : 254205.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕