หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูโสภณธรรมพิทักษ์ (วิรัตน์ วิรตโน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๗ ครั้ง
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสื่อวิทยุกระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูโสภณธรรมพิทักษ์ (วิรัตน์ วิรตโน) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสมุทรวชิรโสภณ
  ธิติวุฒิ หมั่นมี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสื่อวิทยุกระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสื่อวิทยุกระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบ- คีรีขันธ์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสื่อวิทยุ กระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบ-   คีรีขันธ์ ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลภาคสนามจากประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่กระจายเสียงตามกำลังส่งสูงสุดของสถานีวิทยุกระจายเสียง แสงธรรมรังสีจำนวน ๓๙๐ คน วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที และค่าเอฟ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพมีการวิเคราะห์เอกสาร และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

             ผลการวิจัยพบว่า

             ๑. การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสื่อวิทยุกระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๑ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด มี ๒ ด้าน ได้แก่ ด้านผู้ส่งสาร และด้านสาร อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๕ รองลงมาได้แก่ ด้านช่องทางการสื่อสาร อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๐๐ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านผู้รับสาร อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๖

             ๒. ผลการเปรียบเทียบความเห็นที่มีต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสื่อวิทยุกระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล คือ เพศ อายุ การศึกษา และพฤติกรรมการรับฟังของประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามตามสมมติฐานการวิจัย พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของประชาชน ได้แก่ อายุ และการศึกษาสามัญ มีผลให้ความคิดเห็นต่อการเผยแผ่พุทธธรรมด้วยสื่อวิทยุกระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ ไม่พบความแตกต่าง

             ๓. ปัญหา อุปสรรคการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสื่อวิทยุ กระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า พระภิกษุผู้จัดรายการวิทยุของวัดธรรมรังสีมีจำนวนน้อย ผู้ช่วยจัดรายการบางรูปยังมีการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องในบางโอกาส การจำกัดเวลาออกอากาศ ขาดการเผยแพร่ทางช่องทางอื่น ๆ และขาดการสอบถามความต้องการของกลุ่มผู้ฟัง และข้อเสนอแนะต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสื่อวิทยุ กระจายเสียงของวัดธรรมรังสี อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า ควรจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ด้านการสื่อสารมวลชนแก่พระภิกษุสามเณรให้สามารถพัฒนาตนเป็นนักเผยแผ่ธรรมะทางสื่อวิทยุกระจายเสียง เพื่อเพิ่มจำนวนผู้จัดรายการวิทยุกระจายเสียง ควรบูรณาการรูปแบบการนำเสนอให้เป็นที่น่าสนใจแก่ผู้ฟังทุกเพศทุกวัย ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารคู่ขนานกับสื่อวิทยุกระจายเสียง เป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการจัดรายการผ่านทางสื่อวิทยุกระจายเสียง เช่น ข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) หรือแอ็พพลิเคชั่นไลน์ หรือเฟสบุ๊ค หรือแฟนเพจ หรือโซเชียลมิเดียร์ ต่าง ๆ เป็นต้น และ ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ฟังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง โดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสภาผู้ฟังรายการ เป็นตัวแทนของผู้ฟังรายการในการเสนอความคิดเห็นให้เกี่ยวกับรายการเพื่อสนองความต้องการของผู้ฟังทุกกลุ่ม

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕