หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กัลยรัตน์ คำคูณเมือง
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๐ ครั้ง
พุทธวิธีการใช้หลักสัมมาวาจาในการสร้างคุณธรรมเพื่อธุรกิจขายตรง
ชื่อผู้วิจัย : กัลยรัตน์ คำคูณเมือง ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  จุฑามาศ วารีแสงทิพย์
  บุญเลิศ โอฐสู
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์คือ (๑) เพื่อศึกษาวิธีการใช้หลักสัมมาวาจาในการประกอบธุรกิจขายตรง (๒) เพื่อศึกษาพุทธวิธีการใช้หลักสัมมาวาจาในพระพุทธศาสนา (๓) เพื่อศึกษาพุทธวิธีการใช้หลักสัมมาวาจาในการสร้างคุณธรรมเพื่อธุรกิจขายตรง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน ๒๕ คน

ผลการวิจัยพบว่า วิธีการใช้หลักสัมมาวาจาในการกระกอบธุรกิจขายตรง คือ ต้องเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังให้รู้ ดูให้เห็น ทำให้เป็น เชื่อมโยงต่อกันอย่างขาดจากกันไม่ได้ เพราะผู้พูดจะได้รู้จริตของผู้ฟังก่อนว่า ความต้องการที่แท้จริงเขาคืออะไร มีนิสัยแบบไหน ระหว่างที่ฟัง ฟังด้วยสติ คิดวิเคราะห์ตาม เมื่อคู่สนทนาพร้อมจะฟังเรา เราสามารถที่จับประเด็นที่จะพูดให้ตรงตามเป้าประสงค์ที่ผู้ฟังต้องการ ด้วยการพูดที่จริงใจ เป็นภาษาที่สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่สุภาพ ถูกต้องตามความเป็นจริง

พุทธวิธีการใช้หลักสัมมาวาจาในพระพุทธศาสนา คือการที่พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีสื่อสารที่หลากหลายร่วมกับหลักสัมมาวาจา ได้แก่ ทรงยกอุทาหรณ์ การเล่านิทานประกอบ ทรงเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา ทำให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยากปรากฏความหมายเด่นชัดออกมาและเข้าใจง่ายขึ้น ทรงใช้สื่ออุปกรณ์ทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัวมาสอน ทรงทำเป็นตัวอย่างเฉพาะในทางจริยธรรม ทรงใช้คำในความหมายใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณ ทรงเลือกคน รู้จักใช้จังหวะและโอกาสให้เป็นประโยชน์ ทรงยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ทรงสื่อด้วยการลงโทษและการให้รางวัล มีกลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งยังมีหลักธรรมที่ช่วยสนับสนุน คือ สุจริต ๓ อิทธิบาท ๔ พรหมวิหาร ๔ และสังคหวัตถุ ๔

พุทธวิธีการใช้หลักสัมมาวาจาในการสร้างคุณธรรมเพื่อธุรกิจขายตรง นักธุรกิจมีการยกเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์แล้วดีขึ้นประกอบการอธิบาย อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงยกอุทาหรณ์ในกรณีต่างๆ, นักธุรกิจมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือการทำธุรกิจด้วยการถ่ายทอดด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายกระชับอย่างที่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา, นักธุรกิจมีภูมิความรู้ถูกต้องมากพอในการอธิบายด้วยภาษาพูด ภาษากาย และภาษาเขียนด้วยกระดาษปากกาที่พกพาง่าย อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สื่ออุปกรณ์ หรือสื่อการสอนทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัว, นักธุรกิจแสดงความปรารถนาดีด้วยความบริสุทธิ์ใจด้วยการแนะนำสาระที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าโดยไม่มีข้อจำกัดว่าเฉพาะของสาระที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองเพียงอย่างเดียว ดั่งเช่นพระพุทธเจ้าทรงทำเป็นตัวอย่าง เฉพาะในทางจริยธรรม, นักธุรกิจสนทนากับลูกค้าด้วยถ้อยคำของกัลยาณมิตร อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงใช้คำในความหมายใหม่, นักธุรกิจวิเคราะห์บุคคลที่สนทนาด้วยว่าจัดอยู่ในหมวดที่เหมาะสมตามสถานะใด อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกคนเป็นอุบายอันสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา, นักธุรกิจฟังมากพอที่สามารถรู้ว่าคู่สนทนาต้องการอะไร อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงรู้จักใช้จังหวะและโอกาส, นักธุรกิจมีเป้าหมายชัดเจน แต่วิธีการ เวลา และเหตุปัจจัยยังไม่เอื้อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ก็เริ่มใหม่ ทำใหม่ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ, นักธุรกิจคิดก่อนพูดมีสติก่อนทำ ทำดีมีรางวัลให้ตนเองพอเหมาะ ให้ทีมงานพอควร ทำผิดก็มีกฎระเบียบในการควบคุมการลงโทษ และการให้รางวัล อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยการลงโทษ และวิธีที่สิบ นักธุรกิจการได้เรียนรู้สินค้าอย่างถ่องแท้ทั้งการอ่าน การฟัง การพูด การลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจธรรมชาติของธุรกิจด้วยการฝึกจิตตามหลักธรรม เพื่อใช้สติตั้งรับกับเหตุการณ์ฉพาะหน้า, ดั่งที่พระพุทธเจ้าใช้กลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕