หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ประชา เทศพานิช
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
แนวทางการพัฒนาจริยธรรมของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมในประเทศไทยเชิงพุทธบูรณาการ
ชื่อผู้วิจัย : ประชา เทศพานิช ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  -
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “แนวทางการพัฒนาจริยธรรมของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมในประเทศไทยเชิงพุทธบูรณาการ” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และสภาพปัญหาของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมในประเทศไทย (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมในประเทศไทย (๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาจริยธรรมของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมในประเทศไทยเชิงพุทธบูรณาการ งานวิจัยเรื่องนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยกำหนดกรอบการวิจัยตามวัตถุประสงค์ ด้วยวิธีการพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า

จากแนวคิดทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชนได้กล่าวถึงการกระทำผิดจริยธรรมของสื่อสารมวลชนไว้หลายประการ เช่น การโกหกและหลอกลวงเสนอข่าวสารข้อมูลที่ไม่จริง การมีอคติลำเอียงที่ฝืนต่อจริยธรรม การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่อมวลชน และการขาดความเมตตาธรรมของสื่อ เป็นต้น

ปัญหาด้านจริยธรรมของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียม ส่วนใหญ่ยังขาดจริยธรรม ขาดความรับผิดชอบต่อวิชาชีพในการปฏิบัติงาน ได้แก่ ปัญหาการประทุษร้ายทางวาจา  ปัญหาการสร้างความเกลียดชัง ปัญหาการสร้างความแตกแยกในสังคม ปัญหาการโฆษณาเกินจริง ปัญหาการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ปัญหารายการชวนเชื่อ งมงาย ไร้สาระ และปัญหารายการที่ส่อไปในทางลามก อนาจาร ซึ่งจะมีผลกระทบในทางลบต่อผู้ชมและสังคม ซึ่งหากยังไม่ได้รับการแก้ไขย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างเนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคที่รับชมโทรทัศน์ดาวเทียมมีเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ

หลักพุทธธรรมที่สอดคล้อง ในการนำมาใช้บูรณาการกับวิธีการพัฒนาจริยธรรม เพื่อใช้แก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วย หลักอริยมรรคมีองค์ ๘ หลักเบญศีล เบญจธรรม หลักพรหมวิหาร ๔  และหลักอคติ ๔  ซึ่งสรุปได้ ๔ วิธีเชิงพุทธบูรณาการ ดังต่อไปนี้ 

          ๑) หลักมรรคมีองค์ ๘ นำมาบูรณาการกับวิธีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพสื่อสารมวลชนฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทุกสื่ออยู่ภายใต้องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนอันเดียวกัน เพื่อให้มีการควบคุมและกำกับดูแลกันเอง                  (Self Regulation) จะทำให้เกิดผลเป็นความประพฤติที่ถูกต้องดีงามทั้งกาย วาจา ใจ

          ๒) หลักเบญจศีล, เบญจธรรม นำมาบูรณาการกับวิธีการหยุดยั้งหรือไม่สนับสนุนช่องโทรทัศน์ดาวเทียมที่กระทำผิดกฎหมาย หรือกระทำผิดจริยธรรม มีบทลงโทษในทางปฏิบัติที่เคร่งครัดชัดเจนจาก กสทช.จะทำให้มีความประพฤติที่คิดถูก พูดถูก ทำถูก ไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฏหมาย ไม่ทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรม

          ๓) หลักพรหมวิหาร ๔ นำมาบูรณาการกับการส่งเสริมวิชาชีพสนับสนุนให้มีการจัด Forum การอบรม การเข้าค่าย สัมมนา โดย กสทช. และหน่วยงานองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยใช้การจัดสนทนาแบบ Dialogue และ Collaborative ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ มีความปรารถนาดีต่อกัน มีความรักความเมตตา จะทำให้เกิดผลเป็นความประพฤติที่ประกอบด้วยความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขาพ้นทุกข์อย่างมีปัญญา

          ๔) หลักอคติ ๔ นำมาบูรณาการกับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานภายนอก กสทช. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกระเบียบ ข้อบังคับ แนวทางในการปฏิบัติและบทลงโทษต่างๆ อย่างเป็นธรรมและเป็นกลางในเรื่องความผิดทางจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการได้นำเสนอข่าวหรือรายการด้วยความเป็นกลาง เหมาะสม ปราศจากอคติต่างๆ จะทำให้เกิดผลเป็นความประพฤติที่มีความเที่ยงตรง ยุติธรรม เป็นกลาง ไม่เอนเอียง

จากที่กล่าวมานี้ ผู้วิจัยสามารถสรุปองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัย คือ

"NFFFP = GOOD SATELLITE TV OPERATOR MODEL" โดยมีรายละเอียดดังนี้ N”(THE NOBLE EIGHTFOLD PATH) คือ อริยมรรคมีองค์ ๘   F”(FIVE PRECEPTS) “F”(FIVE DHARMA) คือ เบญจศีล เบญจธรรม   F”(FOUR SUBLIME STATES OF MIND) คือ พรหมวิหาร ๔  และ P”(PREJUDICE) คือ อคติ ๔

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕