หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระศรีสังคม ชยานุวฑฺโฒ (ธนาวงษ์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๙ ครั้ง
การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา : รูปแบบและเครือข่ายการจัดการท่องเที่ยวของวัดในสังคมไทย (สาขาวิชาการพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระศรีสังคม ชยานุวฑฺโฒ (ธนาวงษ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ปาริชาติ วลัยเสถียร
  โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาบทบาทการส่งเสริมของวัด และความเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายการปฏิบัติธรรม ๓) เพื่อวิเคราะห์บทบาทของวัดที่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม และการจัดการเครือข่ายการท่องเที่ยว ด้านการปฏิบัติธรรม การศึกษาครั้งนี้ ทำการรวบรวมข้อมูลวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการสังเกต และการสัมภาษณ์ภิกษุสงฆ์ในวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจำนวน ๑๐ วัด แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อให้เห็นรูปแบบ บทบาท ความเชื่อมโยงและการจัดการเครือข่าย ดังนี้

 รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาของวัดในสังคมไทย แบ่งออกได้เป็น ๒ รูปแบบ คือ ๑. รูปแบบของวัดที่ส่งเสริมให้เป็นแหล่งชมความงดงามของงานพุทธศิลป์และทำบุญ ไหว้พระ  ขอพร ที่มีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพทั้งภายนอกและภายในตามบริบทของวัด มีการใช้    สัญลักษณ์และการสื่อสารที่ทันสมัย เข้าใจง่าย ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงมากนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ๒. รูปแบบของวัดที่เน้นส่งเสริมให้เป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติธรรม กำลังได้รับความสนใจมากจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

บทบาทของวัดที่ส่งเสริมให้เป็นแหล่งชมความงดงามของงานพุทธศิลป์ทำบุญ ไหว้พระ ขอพร พบว่า มีการส่งเสริมกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันสำคัญของชาติ งานวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชุมชน โดยกิจกรรมที่ส่งเสริมให้มีขึ้นนี้ เป็นการพึ่งพาเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างวัดกับชุมชน และวัดจะสอดแทรกให้มีการนั่งสมาธิ การปฏิบัติวิปัสสนาเข้าไปร่วมด้วยอยู่เสมอตามโอกาส เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจงานด้านพุทธศิลป์ซึ่งเป็นวัตถุธรรม ได้มีการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในเชิงลึกที่เป็นนามธรรมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดพฤติกรรมการเปลี่ยน แปลงขึ้นในจิตใจของนักท่องเที่ยวให้สนใจกับการปฏิบัติธรรม ในวัดที่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ผลการศึกษาด้านการจัดการเครือข่าย พบว่า วัดที่จัดให้มีการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องและจริงจังนั้น มีลักษณะของความเป็นเครือข่ายการปฏิบัติธรรมอยู่ทั่วในสังคมไทย ซึ่งมีการจัดการอยู่ ๒ ระดับคือ ๑. ระดับบน ได้แก่ องค์กรบริหารกิจการพระพุทธศาสนาสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย เรียกว่า มหาเถรสมาคม (มส.) โดยมีคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา รับผิดชอบด้านการปฏิบัติธรรม ขณะนี้ได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ขึ้น เพื่อส่งเสริมช่วยเหลือและสนับสนุนให้เครือข่ายการปฏิบัติธรรม มีความเป็นเอกภาพ และสร้างมาตรฐานการสอนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยใช้แนวทางเดียวกันคือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐานสูตร ยึดพระไตรปิฎกเป็นหลัก ๒. ระดับปฏิบัติการ ได้แก่ เจ้าสำนักปฏิบัติธรรม ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการภายในสำนักของตนให้มีความสมบูรณ์ และพร้อมที่จะพัฒนาเพื่อสร้างพระวิปัสสนาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีภูมิรู้ภูมิธรรมทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ รวมถึงการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมสาขาให้สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน ย่อมก่อเกิดเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ เป็นประโยชน์ต่อสังคมในชาติและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกโดยรวม

แม้ว่าผลจากการศึกษาจะพบว่า มีนักท่องเที่ยวที่ชมความงามของงานพุทธศิลป์และมีความสนใจไปปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น แต่มักจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีกิจกรรม “ทัวร์ธรรมะ” แต่ยังมีจำนวนเยาวชนที่ค่อนข้างน้อย จึงมีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานภาครัฐและองค์กรพระพุทธศาสนา ควรมีการขยายความเข้าใจ ส่งเสริมและสนับสนุนเรื่อง การท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาจิตใจ โดยให้เยาวชนได้แสดงความเป็นผู้นำในการเข้าร่วมทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาให้มากขึ้น.

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕