หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นิศากร บุญอาจ
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๗ ครั้ง
ผลของโปรแกรมการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธจิตวิทยา (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : นิศากร บุญอาจ ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง ผลของโปรแกรมการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธจิตวิทยามีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ๒) สังเคราะห์หลักพุทธธรรมและจิตวิทยาบูรณาการการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์       ๓) นำเสนอโปรแกรมการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธจิตวิทยา ๔) นำเสนอผลของโปรแกรมการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธจิตวิทยา ผู้วิจัยกำหนดรูปแบบวิธีวิจัยออกเป็น ๒ ระยะ คือระยะแรก เป็นการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเอกสาร  และการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อนำผลการวิจัยเชิงคุณภาพมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาโปรแกรมสำหรับใช้ทดลอง  ระยะที่สอง เป็นการดำเนินการวิจัยกึ่งทดลอง ผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการสัมภาษณ์เชิงลึก ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน ๑๘ รูป/คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองเป็นแบบเจาะจงเลือกจากผู้มารับบริการในคลินิกผู้ป่วยโรคเบาหวาน ของโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา        จ.กาญจนบุรี ที่สมัครใจเข้าร่วมทดลอง กำหนดตัวอย่างโดยใช้โปรแกรม G*Power ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๗๔ คน แบ่งเป็น กลุ่มทดลอง ๓๗ คน  กลุ่มควบคุม ๓๗ คน โดยทำการวัดผลทั้งก่อนทดลอง และหลังทดลอง โดยใช้แบบวัด DASS21 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา การวิเคราะห์ตามหลักยืนยันสามเส้า และเทคนิค 6 Cs การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พิสูจน์สมมุติฐานด้วย t-test

 

          ผลการวิจัยมีดังนี้

๑. การศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ พบว่า

 การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ หมายถึงการที่มนุษย์ดูแลมนุษย์ด้วยกันเองอย่างเข้าใจความเป็นมนุษย์ ด้วย 1) มีแนวคิดการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจมนุษย์ ประกอบด้วย (๑) แนวคิดความเป็นมนุษย์มนุษย์ (Humanism) (๒) แนวคิดการดูแลเสมือนญาติ (Kinship) (๓) แนวคิดการเข้าใจความทุกข์ (Suffering) ของผู้ป่วย (๔) แนวคิดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic)  (๕) แนวคิดการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) และเข้าใจผู้อื่น (Empathy) และ (๖) แนวคิดมโนธรรม (Conscience)        ๒) ปัจจัยและองค์ประกอบที่สำคัญในการช่วยดูแลผู้ป่วยให้คลายทุกข์กายทุกข์ใจ ประกอบด้วย (๑) ปัจจัยองค์รวม (๒) ปัจจัยทางพุทธศาสนา (๓) ปัจจัยด้านความรักความเมตตา (๔) ปัจจัยผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (๕) ปัจจัยการให้คำปรึกษา และ (๖) ปัจจัยด้านความสามารถ และ ๓) มีคุณลักษณะของผู้ให้การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ประกอบด้วย (๑) ผู้มีใจประดุจพรหม (๒) ผู้มีความเป็นกัลยาณมิตร (3) ผู้ให้การสงเคราะห์ผู้อื่น  (๔ )ผู้มีความมุ่งมั่น พยายามในงาน (๕) ผู้ผู้มีสมาธิและสติในชีวิต และ (๖) ผู้มีความคิดดี มีปัญญากำกับ คิดแบบแยบคาย การพัฒนาตนเองจนมีความงอกงามภายใน

๒. ผลการสังเคราะห์หลักพุทธธรรมและจิตวิทยาบูรณาการการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ พบว่า การนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ประกอบด้วย หลักอริยสัจ ๔ หลักสมาธิ สติ ปัญญา และที่สำคัญหลักพรหมวิหารธรรม ๔ ไปพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพผู้ป่วยอย่างมีสติ รู้ตัวตลอดเวลาและสามารถจัดการกับความทุกข์ได้ ร่วมกับทฤษฎีให้คำปรึกษาที่ให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (Client-centered) ของ Carl Rogers กลุ่มแนวคิดมนุษย์นิยม ที่เห็นความสำคัญในคุณค่า (Worth) และศักดิ์ศรี (Dignity) ของมนุษย์

๓. การพัฒนาโปรแกรมการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธจิตวิทยาพบว่า มีชุดกิจกรรม จำนวน ๑๑ กิจกรรม คือ ๑) รู้จักทักทาย ๒) เห็นคุณค่าในตน ๓) หัวใจแห่งความสงบ ๔) หัวใจแห่งสติ ๕) หัวใจแห่งการปล่อยวางความรู้สึก ๖) หัวใจแห่งการปล่อยวางความคิด ๗) การสื่อสารด้วยหัวใจ ๘) หัวใจแห่งสัมพันธภาพ ๙) หัวใจแห่งความเมตตาและให้อภัย ๑๐) เรื่องเล่าจากหัวใจ และ ๑๑) ก้าวต่อไปด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ใช้กระบวนการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ใช้ระยะเวลาในการทดลอง จำนวน  ๘ สับดาห์ๆ ๑ ครั้งๆ ละ ๒ ชั่วโมง รวม ๘ ครั้ง

๔. ผลของโปรแกรมพุทธจิตวิทยาการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธจิตวิทยา พบว่า

๑) ผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มทดลองที่เข้าร่วมโปรแกรมการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธจิตวิทยามีระดับความซึมเศร้า ความวิตกกังวลและความเครียดหลังเข้าร่วมกิจกรรมต่ำกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๑

๒ ผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มทดลองที่เข้าร่วมโปรแกรมการดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธจิตวิทยามีระดับความซึมเศร้า ความวิตกกังวลและความเครียดหลังเข้าร่วมกิจกรรมต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๑ 

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕