หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระโชคชัย สิริธมฺโม (บุญดวง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
การบำเพ็ญเมตตาของพุทธสาวิกาในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระโชคชัย สิริธมฺโม (บุญดวง) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสมนึก จรโณ
  เทพประวิณ จันทร์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาเมตตาในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญเมตตาในพระพุทธศาสนา (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การบำเพ็ญเมตตาของพุทธสาวิกาในพระพุทธศาสนาเถรวาท

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารซึ่งมีวิธีการที่เน้นการวิจัยตามกรอบของ การศึกษาวิเคราะห์การบำเพ็ญเมตตาของพุทธสาวิกา ๓ ท่าน คือ พระมหาปชาบดีโคตมี พระนางสามาวดี และนางอุตตรา โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวประวัติทั้งในอดีตและปัจจุบัน วิธีการบำเพ็ญเมตตาธรรม ผลงาน และความสำเร็จในการบำเพ็ญเมตตาของพุทธสาวิกาทั้ง ๓ ท่าน ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล เรียบเรียงและนำเสนอผลการวิจัย 

จากผลการศึกษาพบว่าเมตตาในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น คือ รักที่ไม่มีขอบเขต รักไร้พรหมแดน เป็นความรักที่ไม่เจือด้วยตัณหา และเป็นความรักที่บริสุทธิ์อันหาประมาณไม่ได้ มีลักษณะเป็นความรัก ความมีไมตรี ความปรารถนาดี ความอยากให้ผู้อื่นมีความสุขประสบแต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ในชีวิต เป็นความรักที่บริสุทธิ์ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมโลกหรือเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสังสารวัฏ เป็นความรักแบบกลางๆอย่างเผื่อแผ่ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นคุณธรรมที่สูง ผู้ที่มีความเมตตาคือความรักสมบูรณ์แท้นี้จะมีความสุขอย่างแท้จริงเพราะสามารถทำให้บุคคลอื่นมีความสุขได้อีกด้วย

การบำเพ็ญเมตตาในพระพุทธศาสนาของพุทธสาวิกาทั้ง ๓ ท่านนั้นมีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ทั้งในชาติตระกูล แหล่งกำเนิด สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นองค์ประกอบให้พุทธสาวิกาได้ประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต อันเป็นเหตุให้ส่งผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจที่ทำให้เกิดสภาวธรรมที่ต่างกันในการบำเพ็ญเมตตา และท่านเหล่านั้นก็ยึดหลักคุณธรรมต่างๆ มาประพฤติปฏิบัติในวิถีชีวิต โดยเฉพาะหลักเมตตาที่เป็นหัวข้อธรรมที่สำคัญที่ได้ยึดถือปฏิบัติ และพัฒนาจิตใจในการใช้ชีวิต

การบำเพ็ญเมตตาของพุทธสาวิกาคือ การพัฒนาจิตใจให้มีความก้าวหน้าและตั้งมั่นในการใช้ชีวิตทั้งทางด้านกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมเป็นพื้นฐานในจิตก่อน โดยต้องหมั่นพัฒนาการเจริญเมตตาอันเป็นเงื่อนไขในการพัฒนาจิตใจซึ่งสามารถนำไปเป็นกรณีตัวอย่างและแก้ปัญหาในชีวิตได้

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕