หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ศิวาพัชร์ ฉัตรเท
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๕ ครั้ง
การสร้างสัมพันธภาพในการครองเรือนของคู่สมรสเชิงพุทธ
ชื่อผู้วิจัย : ศิวาพัชร์ ฉัตรเท ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ดิลก บุญอิ่ม
  พระอธิการสุชาติ จนฺทสโร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “การสร้างสัมพันธภาพในการครองเรือนของคู่สมรสเชิงพุทธ” ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสัมพันธภาพในการครองเรือนของคู่สมรส ๒) เพื่อเสนอแนวทางการสร้างสัมพันธภาพในการครองเรือนของคู่สมรสตามแนวพระพุทธศาสนา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มเป้าหมายผู้ให้สัมภาษณ์ ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถานภาพสามีหรือภรรยา จำนวน ๑๖ ราย ได้มาโดยวิธีเจาะจง

ผลการวิจัย พบว่า :

สังคมเกิดขึ้นได้จากครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยคู่สมรส คือ สามีและภรรยา และอาจมีบุตรธิดา และเครือญาติอยู่ร่วมด้วย ความสุข ความเจริญและความมั่นคงของครอบครัวจะมีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการสร้างสัมพันธภาพในการครองเรือนของคู่สมรส การเสริมสร้างชีวิตครอบครัวของคู่สมรสให้มีคุณภาพ ควรประกอบด้วยความรักอย่างมีเหตุผล แต่งงานด้วยความรักต่อกันอย่างแท้จริง มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตครอบครัว ส่งเสริมภารกิจซึ่งกันและกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ให้เกียรติและไว้วางใจกัน ให้ความเคารพบุพการีของกันและกัน มีความคิดเห็นสอดคล้องกัน และร่วมกันสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว

การสร้างสัมพันธภาพในการครองเรือนของคู่สมรส ควรใช้หลักอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความตั้งใจ) และ วิมังสา (การไตร่ตรอง) เป็นฐานเกื้อหนุนการดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือกัน การร่วมกันแก้ไขข้อบกพร่องของกันและกัน การรักษาครอบครัวให้มีความสุข การร่วมกันรับผิดชอบภารกิจ การสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้น่าอยู่และการเอาใจใส่สงเคราะห์คนใกล้ชิดร่วมทั้งการรู้จักการใช้สอยเงินทองอย่างประหยัด

การสร้างสัมพันธภาพของคู่สมรสเชิงพุทธตามหลักอิทธิพล ๔ ที่เกื้อหนุนต่อชีวิตครอบครัวให้อยู่อย่างมีความสุข จากการวิเคราะห์หลักอิทธิบาทที่มีผลต่อการสัมพันธภาพของคู่สมรส ประกอบด้วย ๑) การทำหน้าที่ตามสถานภาพของคู่สมรส ความเต็มใจปฏิบัติและรับผิดชอบการงานในครอบครัว และส่งเสริมและสนับสนุนคู่สมรสเพื่อเพิ่มพูนรายได้  ๒) การสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของคู่สมรสด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกันทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง ความเข้าใจและใส่ใจความรู้สึกของกันและกันและขจัดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ๓) การพึ่งตนเองของคู่สมรส เพียรพยายามทำงานหารายได้ ประพฤติตนตามหลักคุณธรรมและมีวินัยในตนเอง ๔) การเกื้อกูลต่อสังคมของคู่สมรส การร่วมแก้ปัญหาชุมชนและสังคม โดยการไตร่ตรองปัญหายามสังคมต้องการ การแสดงไมตรีจิตต่อคนในชุมชนด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี ช่วยเหลือกิจกรรมของชุมชนมีน้ำใจให้กันและกัน  การสร้างสัมพันธภาพของคู่สมรสเชิงพุทธเป็นการประพฤติปฏิบัติตนของคู่สมรสเพื่อเป็นแบบอย่างที่เกื้อกูลประโยชน์สุขแก่ตนเองและชุมชน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความผาสุกในการครองเรือนควรดำรงตนตามหลักสัมพันธภาพเชิงพุทธอันเป็นประโยชน์สุขอันแท้จริง

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕