หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสายชล กตปุญฺโญ (ทองคงอ่วม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๗ ครั้ง
การศึกษาพุทธวิธีเพื่อละมานะในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระสายชล กตปุญฺโญ (ทองคงอ่วม) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

 การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการวิจัยเอกสาร มุ่งเน้นการศึกษาการปฏิบัติเพื่อละมานะ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ตามวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑). เพื่อศึกษามานะ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒). เพื่อศึกษาพุทธวิธีการละมานะในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท(๓). เพื่อศึกษาวิเคราะห์เสนอแนวทางการละมานะ ในชีวิตประจำวัน โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา และคัมภีร์อื่น โดยจากเอกสารงานวิทยานิพนธ์ปกรณ์วิเศษ ตำราวิชาการ และหนังสือบทความต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

             ผลการวิจัยพบว่า มานะในพระพุทธศาสนามีความหมาย คือความถือตัว มานะนี้เป็นกิเลส โดยองค์ธรรม ได้แก่ มานเจตสิก ที่ประกอบกับโลภมูลจิต มานะนัยที่นี้ แปลว่าความถือตัว ความสำคัญตนว่าดีกว่าเขา เสมอกันกับเขา หรือต่ำกว่าเขา มานะเกิดขึ้นได้เพราะการยึดถือขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อาศัยวัตถุต่างๆ ที่มากระทบกับอายตนะภายในและอายตนะภายนอก คือ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อย ตึง ใจตรึกคิดนึกธรรมารมณ์ เป็นเหตุเกิด และไม่มีวัตถุเป็นเหตุเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะแสดงภาวะอาการออกไปได้หลายลักษณะตามเหตุนั้นๆจนกลายเป็นประเภทของมานะหลายประเภท มานะมีแต่ผลเสีย มีโทษคือมีโทษต่อตนเอง ทำให้ขาดโอกาสได้รับความรู้จากผู้เป็นพหุสูตร ทำให้ติดวนอยู่ในทุกข์ ในวัฏฏสงสาร และมีโทษต่อสังคม คือ มีมานะแล้วจะคบคนอื่นก็ลำบาก และคนอื่นจะมาคบก็ลำบากเหมือนกัน เพราะมีมานะดื้อดึง กลายเป็นคนแคบในสังคม ทำให้เสียหมู่คณะ ทำลายมนุษย์สัมพันธ์ไม่มีใครคบหาสมาคมเป็นเพื่อน คนทั้งหลายพากันรังเกียจเพราะความเย่อยิ่งถือตัว   คนมีมานะเป็นคนเอาใจยาก เช่น การแตกแยกของวรรณะทั้งสี่

             พระพุทธศาสนาสอนให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ มีศีล สมาธิปัญญา สอนให้เป็นผู้มีขันติ อดทนอ่อนน้อม ถ่อมตน ว่าง่ายสอนง่าย เพื่อละอัตตาตัวตน ลดละทิฏฐิมานะลง และเพื่อให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ร่วมกับสังคมหมู่คณะ อย่างสงบ

             และในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ มีสิ่งสำคัญอยู่ที่การมีสติกำหนดรู้จิตด้วยวิธีคิดแบบรู้เท่าทันอารมณ์ปัจจุบันคณะมีหลักการคือ การใช้สติรู้เท่าทันอารมณ์คอยกำกับความคิด รวมไปถึงการคอยสังเกตจิตที่อาจมีความโลภ ความโกรธ ความหลง มีตัณหา มานะทิฏฐิที่ทำให้จิตนั้นเปลี่ยนไปต่างๆ ทุกคณะจิตในปัจจุบันอารมณ์ การใช้สติรู้เท่าทัน รับรู้ถึงความคิดเหล่านั้น ด้วยการเห็นความคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตน ไม่มีตนอยู่ในความคิด สังเกตความรู้สึกของกายใจที่เกิดดับอย่างรวดเร็วทุกคณะจิต จนเกิดความบริสุทธิ์แห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา (วิสุทธิ) เกิดเป็นวิปัสสนาญาณ ญาณกำหนดรู้กิเลสมานะทั้งหลายทั้งปวง ที่เรียกว่าปริญญา ด้วยการเจริญวิปัสสนาสติปัสฐาน เจริญอริยมรรค เจริญโพธิปักขิยธรรม เห็นกิเลสคือมานะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามกฎของไตรลักษณ์เป็นไปตามกฎแห่งปฏิจจสมุปบาทประหารกิเลส คือมานะทั้งหลายทั้งปวง ด้วยอรหัตตมรรค อรหัตตผล อยู่จบพรหมจรรย์ ชาติสิ้นแล้ว ภพสิ้นแล้ว กิจที่ต้องทำได้ทำแล้ว กิจอื่นที่ยิ่งกว่าไม่มีอีกแล้ว ถึงซึ่งบรมสุขตลอดกาลนิรันดร์

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕