หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสุทัศน์ กตสาโร (ประทุมแก้ว)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๗ ครั้ง
การศึกษาธุดงควัตรในพระพุทธศาสนา : กรณีศึกษาแนวการปฏิบัติธุดงควัตรของวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี
ชื่อผู้วิจัย : พระสุทัศน์ กตสาโร (ประทุมแก้ว) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๑๑/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง)
  วุฒินันท์ กันทะเตียน
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๓ กันยายน ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

สารนิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาธุดงควัตรในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาหลักการ วัตถุประสงค์และแนวการปฏิบัติของการถือธุดงค์วัตรของวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวการปฏิบัติธุดงควัตรของวัดพระธรรมกาย   จังหวัดปทุมธานี  วิธีการศึกษาในครั้งนี้  ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเชิงเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก เอกสาร ตำรา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือที่รวบรวมเกี่ยวกับหลักของการปฏิบัติ และงานเขียนต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อให้ได้เนื้อหาสอดคล้องตามลำดับของงานวิจัย

      ผลจากการวิจัยพบว่า 

      พระธุดงค์ในกรอบทางพระพุทธศาสนา  คือ กลุ่มพระสงฆ์ที่มุ่งดำเนินตามทางขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่า ธุดงค์นั้น แปลตามตัว หมายถึง  องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส  ประกอบด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ๑๓ ข้อ  เรียกว่า  ธุดงควัตร ๑๓ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติสามารถเลือกปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งได้ตามความสมัครใจ  และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ครบทุกข้อ  เพราะการปฏิบัติขึ้นอยู่กับบุญบารมี  ความอดทน  และความเพียร  เช่น  การถือปฏิบัติข้ออรัญญิกังคะ (อยู่ป่า) และโสสานิกังคะ (อยู่ป่าช้า) เพราะธุดงค์เป็นแนวทางเอื้อให้ผู้ปฏิบัติได้มีความวิเวกปราศจากความวุ่นวายจากสังคม มุ่งต่อการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสภายในของแต่ละบุคคล

       การปฏิบัติธุดงควัตรของวัดพระธรรมกาย  วัดพระธรรมกายได้ให้ความหมายของ “ธุดงค์” ไว้ว่า  ธุดงค์เป็นวิธีที่สามารถกำจัดกิเลสได้แบบเฉียบพลันทันตาเห็น และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ อานิสงส์ที่เกิดจากการปฏิบัติธุดงควัตร คือ ทำให้พระที่จาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ อยู่อย่างสมถะ เสียสละ ลดละอุปโภคบริโภค ทำให้จิตของท่านเป็นอิสระพ้นจากพันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย สงบเอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญความเพียร การท่องไปในที่ต่าง ๆ เป็นการฝึกจิต หลอมใจ ให้เข้มแข็ง มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีหลักการ วัตถุประสงค์เป็นแบบอย่างเฉพาะ และมีแนวทางการปฏิบัติธุดงควัตรที่สอดคล้องกับพระไตรปิฎกเพียง ๒ ข้อ ดังนี้ คือ ๑) ถือการนั่งฉันบนอาสนะเดียวเป็นวัตร  ) ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร 

      ผลจากการวิเคราะห์แนวการปฏิบัติธุดงควัตรของวัดพระธรรมกาย  พบว่า การเดินธุดงค์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อฟื้นฟูจิตใจ สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน และความเป็นสิริมงคลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยธรรมชาติ อีกทั้งฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวพุทธที่ดีงามกลับคืนสู่สังคมไทย ดังนั้น การเผยแผ่พุทธศาสนาของวัดพระธรรมกายครั้งนี้ มุ่งประโยชน์  ๓ อย่าง คือ ๑) มุ่งประโยชน์ต่อพระภิกษุที่เดินธุดงค์ ซึ่งเป็นพระภิกษุในโครงการบวชแสนรูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย  เมื่ออออกพรรษารับกฐินแล้วที่มีศรัทธาตั้งใจบวชต่อไม่สึก  ก็ได้มารวมกัน และปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ นี้คือประโยชน์ต่อพระภิกษุ  ) ประโยชน์ต่อญาติโยม ทำ ให้โยมทั้งหลายมีความสุขกายสุขใจที่ได้เห็นพระผ่านมาถึงหน้าบ้านเป็นร้อย เป็นพันรูปก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดประโยชน์ต่อญาติโยม และในข้อที่ ๓)  คือ ประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา  ทำให้เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในภาพรวม แม้คนที่อยู่ไกลๆไม่ได้มาต้อนรับโดยตรงก็เกิดปีติศรัทธาขึ้น แม้แต่ชาวต่างชาติที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ เห็นแล้วก็เกิดความสนใจอยากจะมาศึกษาเรียนรู้ด้านพระพุทธศาสนา เป็นต้น

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕