หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุนีย์ อภิชาติกุลชัย
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๐ ครั้ง
การเสริมสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเพื่อชุมชนสันติสุข : กรณีศึกษาตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (สันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : สุนีย์ อภิชาติกุลชัย ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
  อุทัย สติมั่น
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            สารนิพนธ์ฉบับนี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพภาคสนาม (Qualitative Research)                        มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการเสริมสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเพื่อชุมชนสันติสุข  (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์เครือข่ายด้านการท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการเสริมสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวชุมชนสันติสุข

            ผลจากการศึกษา พบว่า สภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน “ตลาดน้ำอัมพวา”ในเบื้องต้นเป็นการรวมกลุ่มของชุมชนเอง แต่เมื่อมีผู้นำมาร่วมวางแผนพัฒนา ประกอบกับมีการสร้างเครือข่ายชุมชนที่เกี่ยวข้องโดยมีการจัดตั้งชมรมต่างๆ ขึ้นพร้อมกับการประชาสัมพันธ์ ทำให้ตลาดน้ำได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นลำดับ ที่สำคัญ“ตลาดน้ำอัมพวา”มีจุดเด่นเป็นการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีความสนใจเป็นพิเศษ แต่ด้วยสภาพวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิมมีอาชีพทำสวน ซึ่งมีความถนัดในการทำงานเพียงลำพังมากกว่าการทำงานเป็นกลุ่มส่งผลให้การรวมกันของชุมชนเป็นไปอย่างหลวมๆ แม้ว่าจะมีการจัดตั้งเครือข่ายหรือกลุ่มชุมชนเพื่อเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นก็ตาม

            จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น  ผู้วิจัยพบว่า ชุมชน “ตลาดน้ำอัมพวา” มีปัญหาอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยภายในสมาชิกชุมชนและเครือข่ายชุมชนเอง อันได้แก่ การที่สมาชิกชุมชนและเครือข่ายต่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม การไม่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติส่งผลให้นักท่องเริ่มลดน้อยลง การขาดความร่วมกันระหว่างสมาชิกในชุมชน และการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุนจากภายนอก ส่งผลให้รูปแบบการท่องเที่ยวในชุมชนตลาดน้ำเปลี่ยนแปลงไป จากปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงศึกษาเพื่อหาแนวทางเสริมสร้างเครือข่ายของชุมชนเพื่อการรักษาสมดุลไว้ ๓ ด้าน คือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างกิจกรรมสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม จากการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น

            จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนายังพบว่า การนำชุดวิธีการที่เรียกว่า “พุทธสันติวิธี” ด้วยหลัก “สารณียธรรม ๖” ซึ่งเป็นหลักธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน  สามารถนำมาเป็นแนวทางในการเสริมสร้างเครือข่ายชุมชน “ตลาดน้ำอัมพวา” ตลอดรวมไปจนถึงชุมชนต่างๆ ในการสร้างความเข้มแข็งและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

 

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕