หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมพร ปภสฺสโร (แก้วมณี)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อเรื่องการแก้กรรมของชาวพุทธในสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระสมพร ปภสฺสโร (แก้วมณี) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ชัยชาญ ศรีหานู
  พระเทพสุวรรณเมธี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2561
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ๑) เพื่อศึกษาเรื่องกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องการแก้กรรม ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อเรื่องการแก้กรรมของชาวพุทธในสังคมไทยการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยการศึกษาค้นคว้าจาก คัมภีร์พระไตรปิฎกหนังสือวิชาการ วิทยานิพนธ์ วารสาร อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนำมาวิเคราะห์ สรุป เขียนบรรยายเชิงพรรณนา และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ

ผลของการวิจัยพบว่ากรรมคือการกระทำแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม กรรมเป็นข้อหนึ่งในศรัทธาของชาวพุทธ ๔ ประการด้วยกัน คือ กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีจริงวิปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอกัมมัสสกตาสัทธา คือ เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน และตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า กฎแห่งกรรมจึงเป็นหลักคำสอนสำคัญในการพัฒนาตนและสังคม

ความเชื่อเรื่องการแก้กรรมพบว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พัฒนาจิตจนบรรลุมรรคญาณ ซึ่งจะกั้นไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นก็จะเป็นการป้องกันวิบากกรรมที่เป็นอกุศล ส่วนในปัจจุบันคนส่วนมากคิดว่าสามารถแก้กรรมได้หรือแนะนำวิธีแก้ไขให้แก่ผู้อื่นได้ ส่วนใหญ่คนที่เชื่อเรื่องการแก้กรรมจะเป็นผู้ที่กำลังประสบเคราะห์กรรม ประสบอุบัติเหตุ มีปัญหาชีวิตทุกข์ใจทุกข์กาย หรือเจ็บป่วย เชื่อว่าเป็นผลจากกรรมเก่า แต่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้จึงหาวิธีแก้กรรมหรือไปหาร่างทรงเพื่อจะให้บอกกรรมและแนะนำวิธีการแก้ไขให้เช่นการเข้าวัดทำบุญถือศีลปฏิบัติธรรม เป็นต้น

วิเคราะห์ความเชื่อเรื่องการแก้กรรมในสังคมไทยปัจจุบันพบว่า สังคมไทยแม้มีความรู้เรื่องกรรมตามหลักพุทธแต่ยังมีความหลงยึดถือตัวตนโดยเข้าใจเรื่องกรรมว่าเป็นพลังดลให้เกิดสิ่งหรือเหตุการณ์ที่เกิดกับตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองมีสาเหตุจากกรรมเก่าซึ่งเกิดจากความเชื่อผิด ความไม่มั่นคง ความทุกข์ยากในการใช้ชีวิตในสังคม เป็นต้นโดยความเป็นจริงแล้วกรรมในอดีตไม่สามารถแก้ไขได้แต่สามารถเปลี่ยนแปลงวิบากกรรมในอนาคตได้ด้วยการละอกุศลกรรมบททุจริตและพัฒนาให้จิตมีกำลังอยู่เหนืออกุศลและกุศล หรือหากต้องการได้รับกุศลวิบากก็ต้องสร้างกุศลกรรมซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากคือความสุข แต่หากยังทำอกุศลกรรมอยู่ย่อมได้รับภาวะแห่งอกุศลวิบากคือความทุกข์นั่นเอง

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕