หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นวกฤด เหงกระโทก
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๑ ครั้ง
การศึกษาคุณค่า และคติธรรมของต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : นวกฤด เหงกระโทก ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโสภณพัฒนานุยุต
  วรรณา มังกิตะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

          การวิจัยเรื่อง “การศึกษาคุณค่า และคติธรรมต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๓) เพื่อศึกษาคติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยการใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ และฆราวาสที่มีความรู้ ความเข้าใจในต้นพระศรีมหาโพธิ์ จำนวน ๑๐ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบฟอร์มบรรณิกรณ์ข้อมูลจากการศึกษาเอกสารปฐมภูมิ และเอกสารทุติยภูมิ แบบสัมภาษณ์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และขอบเขตของการศึกษา ผลการศึกษามีดังนี้

 

      "ต้นโพธิ์" หมายถึง สัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นต้นไม้ที่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือพระสัพพัญญูของพระพุทธเจ้าใต้ต้นโพธิ์นี้ นอกจากนี้ต้นโพธิ์ยังเป็นสหชาติ คือ เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับพระพุทธองค์ จากความหมายและความเกี่ยวข้องกันของต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับพระพุทธเจ้า ทำให้เป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นต้นไม้อนุสาวรีย์ของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ที่ควรค่าแก่การเคารพสักการบูชา เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์และเป็นสัญลักษณ์ประจำพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงมีความสำคัญ               ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชาสูงสุด และเป็นเหตุให้เกิดการบูชาบริโภคเจดีย์ขึ้น

      ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นพันธุ์ไม้ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพระพุทธประวัติมีอยู่ ๒ ต้นด้วยกัน คือ ที่พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้               และต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งต้นอานันทโพธิ์ยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน                            ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่สืบมาจากหน่อโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา หรือต้นที่เป็นอุทเทสิกเจดีย์ในปัจจุบัน           มี ๓ ต้นด้วยกัน คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา, ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ               และต้นอานันทโพธิ์ วัดพระเชตะวันมหาวิหาร

      ประเทศไทยได้มีการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์มาเป็นเวลานานแล้ว มีมาตั้งแต่ในสมัย  ทวาราวดี สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปลูกไว้ที่วัดอัศฏางคนิมิต เกาะสีชัง และถือเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญมากของประเทศไทย เพราะเป็นต้นที่มีการนำหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์     ที่พุทธคยาถือเป็นครั้งแรกที่ได้นำหน่อพันธ์มาจากพุทธคยาโดยตรงของประเทศไทย ไม่ได้นำเอามาจากประเทศศรีลังกา

 

      ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาในประเทศไทยที่ได้พันธุ์มาจากพุทธคยาหรือศรีลังกาก็ดี โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยหรือชาวล้านนามีความเชื่อที่ว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์              ช่วยขจัดความทุกข์ได้จึงมีประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์ ประเพณีแห่นมสดรดต้นพระศรีมหาโพธิ์                 และมีการประกอบเครื่องพิธีกรรมต่างๆ ใต้ต้นโพธิ์โดยผูกคติกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์             ประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์เป็นการช่วยค้ำหนุนให้ชีวิตของผู้ถวายได้พบแต่ความสุข ความเจริญ มีอายุมั่นยืนยาว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้เจริญ มีความยั่งยืนยาวนานและผูกคติความเชื่อใน ๓ ประการ คือ ๑) เชื่อว่าเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนา ๒) เชื่อว่าไม้ค้ำเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสืบชะตา เป็นการค้ำชีวิตให้ยั่งยืน และ๓) เชื่อว่า เป็นการค้ำยันต้นโพธิ์ไม่ให้หักหรือล้ม ทำให้ดูเป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม ประเพณีแห่นมสดรดถวายต้นพระศรีมหาโพธิ์ ดำเนินการตามปฏิปทาของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นการยกย่องเชิดชูบูชาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองทำให้เกิดความสุข ความเจริญแก่ผู้ที่กระทำบำเพ็ญบุญกุศลทั้งในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งยังเป็นปัจจัยปรากฏต่อมรรค ผล นิพพานในอนาคตกาลต่อไป

          โดยสรุปแล้ว ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในประเทศไทย ที่ได้พันธุ์มาจากพุทธคยาหรือมาจากประเทศศรีลังกาก็ดี ต่างก็ได้รับการเคารพสักการบูชาเป็นอย่างยิ่งจากพุทธศาสนิกชนมา                จนถึงปัจจุบันนี้ ในฐานะที่เป็นบ่อเกิดของคุณค่าและคติธรรมต่างๆ ของพระพุทธศาสนา                ที่พุทธศาสนิกชนยึดถือนำมาเป็นสัมมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสุขสงบและเป็นคติอันดีนำไปสู่             พระนิพพานในอนาคตกาลต่อไป

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕