หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาอดุล ธีรวโร (ฐานบำรุง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๕ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องจิตในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาของวิลเลียม เจมส์ (ปรัชญา)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาอดุล ธีรวโร (ฐานบำรุง) ข้อมูลวันที่ : ๑๓/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ / พฤศจิกายน /๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

                 งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องจิตในพุทธปรัชญาเถรวาท   ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องจิตในปรัชญาของวิลเลียม  เจมส์  ๓) ศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องจิตในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาของวิลเลียม  เจมส์  เป็นการศึกษาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ  ด้วยการศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก  เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา  และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  โดยวิธีการอธิบายเชิงพรรณนา

                 ผลการวิจัยพบว่า  แนวคิดเรื่องจิตในปรัชญาเถรวาท จิต หมายถึง ความคิด สภาพนึกคิด ธรรมชาติที่รู้อารมณ์มีการรับรู้ทั้งภายนอกและภายในอยู่เสมอ จิต เป็นสังขารธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ปรุงแต่งได้ และมีลักษณะเกิดดับอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนดูเหมือนว่าจิตนั้นดำรงอยู่อย่างนั้นอย่างไม่เคยดับเลย จิตคือธรรมชาติรู้ แต่ธรรมชาติของจิตเองหาได้เป็นเพียงแค่รู้ เพียงอย่างเดียวไม่ แต่มีอย่างอื่นที่เป็นธรรมชาติของจิตด้วยจิตจะปรุงแต่งธรรมใดธรรมหนึ่งขึ้นมาด้วย คือ เวทนาไม่ว่าจิตนั้นจะประกอบไปด้วยปัญญาหรืออวิชชา ล้วนแต่ต้องปรุงแต่งเวทนาขึ้นมาด้วยทั้งนั้น จิตมีการทำหน้าที่สืบทอดต่อกันเป็นลำดับ คือ ความเป็นไปแห่งจิตที่เป็นไปเร็วดุจแล่นไปในอารมณ์

    ส่วนแนวคิดเรื่องจิตในปรัชญาของวิลเลียม  เจมส์ นั้น จิต หมายถึง ปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลง มีจุดมุ่งหมายและมีลักษณะสัมพันธ์กับร่างกายเชิงชีวภาพ ลักษณะที่สำคัญที่สุดของความคิดหรือจิต คือ ความที่มันมีธรรมชาติเลือกสรรทุกสิ่งที่รับรู้แล้ว และประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกาย จึงเป็นอวัยวะเครื่องมือสำหรับการเลือกสรรของการรับรู้ การจำและการคิด โดยนัยนี้จิตจึงไม่มีสภาวะเป็นเพียงสิ่งที่รับรู้เฉย ๆ ลักษณะและประเภทจิตในปรัชญาของวิลเลียม เจมส์ คือ การแสดงออกถึงธรรมชาติของบุคคลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงของระยะห่างของเวลาอย่างเป็นระบบและสมเหตุสมผลที่เป็นปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบเข้ามาร่วมกันเป็นสิ่งที่ไม่มีการฝ่าฝืน แตก แบ่งแยก การฝ่าฝืนจากจิตใดจิตหนึ่งไปสู่อีกจิตหนึ่งเป็นไปแบบสันตติและมีการทำงานสืบต่อกันไม่ขาดหายไปไหนจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างความแปรปรวนก่อนที่จะดับก็เกิดจิตดวงหนึ่งมารับช่วงต่อเป็นสายธารแต่ธรรมชาติของจิตถูกมองผ่านระบบของการทำงานของร่างกาย

                 ความเหมือนและความต่างความหมายของจิตในพุทธปรัชญากับปรัชญาของวิลเลียม เจมส์ จิตในพุทธปรัชญาเถรวาท คือ ความคิด สภาพนึกคิด และธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ โดยเฉพาะความหมายของธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ ที่มีความหมายกว้าง ควบคุมถึงสภาพของจิตทั้งหมด ทั้งสภาพของจิตที่รู้อารมณ์สุข ทุกข์ เฉย ๆ ส่วนจิตในปรัชญาของวิลเลียม เจมส์ คือ กำลังของความคิด สภาพที่มีการเปลี่ยนแปลง และธรรมการรับรู้ คือ ความหมายของจิตในพุทธปรัชญากับปรัชญาของวิลเลียม เจมส์  คือ ทั้งพุทธปรัชญาและปรัชญาของวิลเลียม เจมส์ ยอมรับว่า จิต หมายถึง ธรรมชาติการรับรู้อารมณ์

                 ลักษณะของจิตในพุทธปรัชญาเถรวาทมี ๒ ลักษณะคือสามัญลักษณะหรือจิตทั่วไป ได้แก่ จิตที่ไปได้ไกล มีถ้ำเป็นที่อาศัย ไม่มีสรีระเที่ยวไปผู้เดียวและวิเสสลักษณะ คือ จิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษาไว้ยาก ห้ามได้ยาก ข่มได้ยาก เป็นธรรมชาติที่เบา หมกมุ่นในอารมณ์ที่น่ารักและจิตเป็นสภาพไม่เที่ยงและลักษณะและประเภทจิตในปรัชญาของวิลเลียม เจมส์ มีลักษณะเป็นการแสดงออกถึงธรรมชาติของบุคคลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงของระยะห่างของเวลาอย่างเป็นระบบและสมเหตุสมผลที่เป็นปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบเข้ามาร่วมกัน ความคิดของมนุษย์มีอิสระจัดการกับทุกสิ่งในตัวเอง

                 ธรรมชาติของจิตในพุทธปรัชญาเถรวาทและวิลเลียม เจมส์ มีความเหมือนกันคือ ธรรมชาติของจิต เป็นไปแบบสันตติและมีการทำงานสืบต่อกัน ไม่ขาดหายไปไหน จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ในระหว่างความแปรปรวนก่อนที่จะดับก็เกิดจิตดวงหนึ่งมารับช่วงต่อ  จิต มีธรรมชาติเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นทางอารมณ์ทางตา เห็น อารมณ์ทางหูได้ยิน อารมณ์ทางจมูกได้กลิ่น อารมณ์ทางลิ้นรับรส อารมณ์ทางกายสัมผัส อารมณ์ทางใจ นึกคิด ความแตกต่างคือ จิตในพุทธปรัชญาเป็นนามธรรมไม่ใช่จิตสำนึกส่วนปรัชญาของวิลเลียม เจมส์ มองจิตผ่านจิตสำนึกว่า เป็นธรรมชาติของจิต ซึ่งในพุทธปรัชญากล่าวถึงจิตสำนึกเป็นเพียงอารมณ์ของจิตเท่านั้น

            การทำงานของจิต ในพุทธปรัชญาเถรวาทและวิลเลียม เจมส์ มีความเหมือนกันคือ จิตเป็นสภาวะของการรับรู้อารมณ์อายตนะ ทั้ง ๖  มีการสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย มีอารมณ์ สุข ทุกข์และอุเบกขา ความแตกต่าง คือ ในพุทธปรัชญา มีการรับรู้อารมณ์ เป็นธรรมชาติรู้ เป็นประธานในการทำสิ่งต่างๆ สิ่งทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจของจิตทั้งสิ้น มนุษย์เราจะทำสิ่งใดย่อมอยู่ภายใต้ของความคิดนั่นคือจิต  จิตมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อจิตมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดนามรูป ส่วนวิลเลียม เจมส์ เชื่อว่าการทำงานของจิตขึ้นอยู่กับบุคคล ความสามารถของจิตในการสร้างความคิดทั่วไปเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเหตุผลจากประสบการณ์จิตสามารถสร้างความคิดรู้ความหมายที่มันให้กับความคิดและเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างความคิด

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕