หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาดวงทิพย์ ปริยตฺติธารี (บุญศรี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๓ ครั้ง
การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมไต ในเชียงตุง รัฐฉาน สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ (การพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาดวงทิพย์ ปริยตฺติธารี (บุญศรี) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสม กลฺยาโณ
  พระมหาอำนวย อํสุการี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมไตในเชียงตุงรัฐฉานประเทศเมียนมาร์ ๒) เพื่อศึกษาปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไตในเชียงตุงรัฐฉานประเทศเมียนมาร์และ ๓) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไตและแนวทางการพัฒนาสังคมในเชียงตุงรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

๑. สภาพลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมไต ในเชียงตุง รัฐฉาน รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์โดยภาพรวมพบว่า เป็นสังคมเกษตรกรรมกึ่งสังคมยังชีพ คือประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ประชาชนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียงมีวัฒนธรรมการกินอยู่อย่างเรียบง่าย ทำให้ชาวไตในเชียงตุงสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกัน อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่อย่างอบอุ่นและมีความสุข โดยจะเห็นได้ว่าชาวไตในเมืองเชียงตุงมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เคร่งครัดในวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม จึงทำให้เชียงตุงยังคงเป็นเมืองโบราณที่สงบเงียบและมีเสน่ห์ตราบเท่าทุกวันนี้

๒. ด้านปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไต ในเชียงตุง รัฐฉาน รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์เรียงตามรายด้าน ดังนี้ ๑) ปัญหาทางด้านครอบครัว พบว่าความใกล้ชิดและความอบอุ่นภายในครอบครัวหายไป จากเคยเป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่รวมกัน กลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว และยังพบว่ายังมีการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น ๒) ด้านศึกษา พบว่า ระบบการศึกษาค่อนข้างด้อยคุณภาพและที่สำคัญยังไม่ทั่วถึง สำหรับการศึกษาในฝ่ายสงฆ์เองยังขาดการการยอมรับและสนับสนุนในทุนการศึกษาจากรัฐส่วนกลาง การเล่าเรียนศึกษาจึงเป็นไปเพื่อรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไตและคำสอนทางพระพุทธศาสนาไว้เท่านั้น ๓) ด้านศาสนา/ภาษา พบว่ามีความขัดแย้งกันทางนิกาย อันมีสาเหตุมาจากความต่างกันในอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรม ขาดการคำนึงถึงเป้าหมายสูงสุดของศาสนา และสำหรับภาษาประจำชาติพันธุ์ก็เริ่มจางหาย โดยถูกผสมกลืนกินโดยภาษาพม่าซึ่งรัฐผู้ปกครองเองได้รณรงค์การใช้ในทุกพื้นที่ เว้นแต่ในสังคมพระสงฆ์ที่ยังคงศึกษาสั่งสอนและอนุรักษ์ไว้อยู่ ๔) ด้านเศรษฐกิจ พบว่าประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย การเงินฝืดเคืองเพราะอาชีพและรายได้ที่จำกัด สภาพเศรษฐกิจไม่ขยายและเติบโตเท่าที่ควร รัฐผู้ปกครองเองก็ไม่ใส่ใจที่จะพัฒนาเชียงตุงให้เจริญในด้านเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จึงเกิดค่านิยมในการกินอยู่ของประชาชนในลักษณะที่เรียบง่ายและพอเพียง ๕) ด้านการเมืองการปกครอง พบว่าประชาชนไม่ได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิและหน้าที่ทางการเมือง กลายเป็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ปกครอง ประชาชนไม่มีอำนาจก้าวก่ายหรือสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ๖) ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ พบว่ายังขาดความรู้ในการจัดการทรัพยากรที่ดี ในเรื่องสุขภาวะอนามัยก็เป็นไปด้วยความอัตคัด อุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ไม่มีคุณภาพและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ๗) ด้านวัฒนธรรมประเพณีไต พบว่า ยังมีการอนุรักษ์ไว้ในแบบหลบเร้นไม่โจ่งแจ้งเพราะกลัวความขัดเเย้งระหว่างชาติพันธุ์ และค่อนข้างสวนทางกับนโยบายของรัฐผู้ปกครองที่มีเป้าหมายในการสร้างความเป็นพม่าให้ได้ในทุกพื้นที่ ประชาชนรุ่นหลังๆ เริ่มมีการคำนึงถึงสาระและคุณค่าทางวัฒนธรรมน้อยลง กลับให้ความนิยมในวัตถุนิยมมากกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์และร่องรอยอารายธรรมที่ล้ำค่าของชาติพันธุ์ ๘) อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไต พบว่าขาดการแสดงออกทางด้านอัตลักษณ์ และขาดความเข้าใจในอัตลักษณ์ของตนอย่างถ่องแท้ ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นไตเริ่มถดถอยและอาจเสื่อมสลายไปได้ในอนาคต

๓. ข้อเสนอแนะต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไตและการพัฒนาสังคมในเชียงตุงรัฐฉานเมียนมาร์ พบว่า การจะอนุรักษ์วัฒนธรรมไตและพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมไตในเชียงตุงนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายทั้งจากหน่วยงาน สถาบันทางสังคมต่างๆ อย่าง วัด โรงเรียน รวมไปถึงความร่วมมือกันของประชาชนในการสร้างความตระหนักในคุณค่าทางวัฒนธรรม และก่อเกิดแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาในทุกๆ ด้านของสังคมดังนี้คือ ๑) ด้านครอบครัว ควรมีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ใครอบครัว ๒) ด้านการศึกษา รัฐบาลกลางควรจัดระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง และอนุญาตให้เพิ่มเติมหลักสูตรการศึกษาเฉพาะชาติพันธุ์ตามสภาพทางสังคมและความสนใจของประชาชน ๓) ด้านศาสนา/ภาษา รัฐบาลควรส่งเสริมสถาบันทางศาสนา เช่นการบูรณะวัดและโบราณสถาน และส่งเสริมการศึกษาของพระเณรให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ตลอดจนการสนับสนุนประชาชนในการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดระดับปัญหาทางสังคมได้อีกทางหนึ่ง ๔) ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลควรเพิ่มทางเลือกอาชีพให้แก่ประชาชนให้หลากหลาย และส่งเสริมอาชีพดั้งเดิมของเชียงตุงให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนในกลุ่มต่างๆ และการเพิ่มหรือหาช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและเกิดการขยายตัวในที่สุด
๕) ด้านการเมืองการปกครอง รัฐบาลควรขับเคลื่อนประเทศโดยสันติวิธีคำนึงถึงความเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา รับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการเมืองและการปกครอง ๖) ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ควรมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ ผู้มีอำนาจไม่ควรให้สัมปทานแก่นายทุนที่ประกอบธุรกิจในลักษณะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาทางธรรมชาติ และเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนให้ได้มีสุขภาพแข็งแรงและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ๗) ด้านวัฒนธรรม/ประเพณีไต รัฐผู้ปกครองควรให้โอกาสประชาชนในการศึกษาหาความรู้ในด้านวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละชาติพันธุ์อย่างเปิดเผย และผู้มีบทบาททางสังคมเองควรปลูกฝังค่านิยมในการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมที่มีค่าไว้ ๘) ด้านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไต
เป็นเรื่องสำคัญของประชาชนชาวไตที่จะต้องตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญและร่วมกันสืบทอดอนุรักษ์ในสิ่งที่ดีงามซึ่งเคยมีมาให้คงไว้อย่าให้ถูกกลืนหรือทำลายโดยอิทธิพลกระแสสังคมโลกจนเกิดความไร้อัตลักษณ์ในที่สุด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕