หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิรัตน์ จนฺทโก (ศรีคำมนตรี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์คุณค่าทางสุนทรียะในศิลปะลายสัก(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระวิรัตน์ จนฺทโก (ศรีคำมนตรี) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ผศ.บุญมี แท่นแก้ว
  ดร. วีรชาติ นิ่มอนงค์
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ มีนาคม ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

      วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎี และประวัติความเป็นมาของศิลปะลายสัก เพื่อต้องการศึกษาทฤษฎีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ และเพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณค่าทางสุนทรียะในศิลปะลายสัก โดยผู้วิจัยได้รวบรวมเอกสาร (Documentary investigation)ข้อมูลที่กล่าวถึงทฤษฎีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศิลปะลายสักทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศผลการศึกษาพบว่า ศิลปะลายสักเป็นสิ่งที่ผู้คนนิยมมากเป็นพิเศษ การสักลายได้กระทำกันขึ้นเนื่องจากความเชื่อถือในเรื่อง ทัศนคติ ค่านิยม ที่เชื่อกันว่า เพื่อให้เกิดมีคุณวิเศษให้กับตนเองเช่น ด้านความขลังศักดิ์สิทธิ์ เมตตามหานิยม แคล้วคลาด ส่วนรูปแบบและลวดลายที่นิยมสักมากมีคือ รูปยันต์ รูปดอกไม้ รูปพระหรือเทพเจ้า รูปสัตว์ และรูปประยุกต์มีมากมายตามวัตถุประสงค์ของการสักแล้วเห็นว่า เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงคุณลักษณะที่เป็นของตนเองหรือคุณลักษณะที่ตนเองต้องการ เช่น สักเพื่อความขลังศักดิ์สิทธิ์ ความกล้าหาญ ความสง่างาม ความอดทน ความปกป้อง

ความเมตตามหานิยม ความแคล้วคลาด และความสวยงามกส่วนทางด้านทฤษฎีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์พบว่า มีทฤษฎีคุณค่าทางสุนทรียะอยู่ ๓ กลุ่มคือ กลุ่มอัตนัยนิยม, กลุ่มปรนัยนิยมและกลุ่มสัมพัทธ์นิยม โดยทั้ง ๓ กลุ่มนี้ มีเกณฑ์การตัดสินความมีอยู่ของความงามที่แตกต่างกันกล่าวคือ อัตนัยนิยมเชื่อว่า ความงามที่แท้จริง คือ ความรู้สึกภายในจิตใจ เช่น ความชอบใจ ความพึงพอใจ ความเพลิดเพลินใจ ความสนุกสนาน และความซาบซึ้งปีติสุข หรือบางทีตีค่าในเชิงที่ว่า สวย ไม่สวย ชอบใจ ไม่ชอบใจ เหล่านี้เป็นต้น ส่วนกลุ่มปรนัยนิยมเชื่อว่า คุณค่าทางสุนทรียะที่แท้จริงมีอยู่กับวัตถุสุนทรียะนั้น เพราะคุณค่าเหล่านั้นได้ติดตัววัตถุมาแต่แรกเกิด การที่รู้จักความงามของวัตถุสุนทรียะนั้นได้ ก็เพราะว่าวัตถุสุนทรียะนั้นมีคุณสมบัติอันครบถ้วนอยู่แล้ว เช่น สีสัน สัดส่วน รูปทรง ลวดลาย แจ่มแจ้ง กลมกลืนสมบูรณ์แบบจึงจะเรียกวัตถุสุนทรียะว่า สวยงามได้ แต่ว่าสัมพัทธ์นิยมบอกว่า จะตัดสินความงามให้ถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์ ก็คือ ความงามต้องมีความเป็นเอกภาพ (Unities) ที่สัมพันธ์กันระหว่างสิ่ง ๒ สิ่ง คือจิตใจผู้รับรู้และวัตถุสุนทรียะ ซึ่งทั้ง สอง สิ่งนี้มีคุณภาพและคุณสมบัติถูกตามเกณฑ์มาตรฐานทางสุนทรียศาสตร์ ซึ่งถือได้ว่า มีคุณค่าทางสุนทรียะจริงประการสุดท้าย ผู้วิจัยได้วิเคราะห์คุณค่าทางสุนทรียะในศิลปะลายสัก โดยยึดทฤษฎีคุณค่าทางสุนทรียะทั้ง ๓ ทฤษฎีเป็นหลัก จากการวิเคราะห์คุณค่าทางสุนทรียะในศิลปะลายสักที่มีวัตถุประสงค์ของการสักสองประการคือ สักเพื่อความศักดิ์สิทธิ์และสักเพื่อความสวยงาม ผล การวิเคราะห์ปรากฏว่า ลายสักทั้งสองประการต่างก็มีคุณค่าทางสุนทรียะแต่น้ำหนักของการให้
คุณค่าต่อลายสักทั้งสองอาจจะไม่เท่ากัน กล่าวคือ ลายสักที่สักเพื่อความศักดิ์สิทธิ์มีคุณค่าทางสุนทรียะน้อยกว่าลายสักที่สักเพื่อความสวยงาม โดยนักสุนทรียศาสตร์ทั้ง ๓ กลุ่มให้เหตุผลว่า ลายสักที่สักเพื่อความศักดิ์สิทธิ์นั้น มีน้ำหนักในการให้คุณค่าทางด้านจิตใจน้อยหรือไม่อยู่ในเกณฑ์ความงามของสุนทรียะ ซึ่งต่างจากลายสักที่สักเพื่อความสวยงามที่ให้คุณค่าทางสุนทรียะทั้งทางด้านจิตใจ และวัตถุมากกว่าดังกล่าวแล้ว
Download : 255142.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕