หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วริศดา พุกแก้ว
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
พุทธสันติวิธีเพื่อการเข้าถึงความสุขของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลวิหารแดง จังหวัดสระบุรี (สันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : วริศดา พุกแก้ว ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์
  พระมหาดวงเด่น
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

          วิทยานิพนธ์ นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสัมมาทิฏฐิในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการพยาบาล และสภาพปัญหาการขาดความสุขในการทำงานของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลวิหารแดง จังหวัดสระบุรี (๓) เพื่อประยุกต์ใช้สัมมาทิฏฐิในฐานะหลักพุทธสันติวิธีเพื่อการเข้าถึงความสุขของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลวิหารแดง จังหวัดสระบุรี การดำเนินการวิจัยโดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพ แบบภาคสนาม  (Qualitative)โดยมีเครื่องมือวิจัย ได้แก่ การลงภาคสนามโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลวิหารแดง

 

          ผลการศึกษาพบว่า

          ๑) สัมมาทิฏฐิในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เป็นตัวปัญญา เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตเปรียบเสมือน เข็มทิศในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ให้เป็นไปด้วยความถูกต้องซึ่งจะส่งผลในการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ดีงาม ทั้งท่าทาง น้ำเสียง แววตา  ประกอบด้วยเมตตาและความจริงใจ นับเป็นเส้นทางนำไปสู่ความสุขของมนุษย์ สัมมาทิฏฐิจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยการคิดตามหลักโยนิโสมนสิการ และการมีกัลยาณมิตรที่ดี สัมมาทิฏฐิจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานของพยาบาลในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นทุกข์ และจะนำมาซึ่งความสุขในชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่น

 

          ๒) แนวคิดเรื่องการพยาบาล และการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ พบว่า อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ และมีกรอบในการทำงานให้บริการที่ชัดเจน คือมุ่งเน้นการให้การพยาบาลดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยความเอาใจใส่ ให้เกียรติ เคารพ และปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมกัน เมื่อทำการวิเคราะห์สภาพปัญหาการขาดความสุขของพยาบาลโรงพยาบาลวิหารแดง พบว่า โรงพยาบาลฯ ขาดแคลนพยาบาล จึงทำให้มีพยาบาลจำนวนน้อยกว่าภาระงาน พยาบาลแต่ละคนจึงมีภาระงานหนักขณะที่ได้รับค่าตอบแทนน้อย มีความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพ เมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น บางครั้งจึงทำให้มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ขาดความเอาใจใส่และขาดกำลังใจจากหัวหน้างานและผู้บริหาร อีกทั้งมีความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติมากขึ้นทุกวัน และมีกระแสเรียกร้อง คาดหวังของสังคมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้มีการฟ้องร้องกันมากขึ้น เป็นเหตุให้พยาบาลต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เคร่งเครียดมากขึ้น ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จนเป็นสาเหตุทำให้ขาดความสุขในการทำงานและกระทบถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน

 

          ๓) ในการประยุกต์แนวคิดหลักสัมมาทิฏฐิเพื่อการเข้าถึงความสุขของพยาบาลวิชาชีพ ผู้วิจัยได้เสนอแนวทาง บันไดก้าวสู่ความสุขของพยาบาลวิชาชีพ (R-A-E-S) ประกอบด้วย
ความเห็นชอบ (Right View) การปรับทัศนคติ (Attitude Adjustment) การเสริมพลัง (Empowerment) และการแบ่งปัน (Sharing) เมื่อเดินตามแนวทางนี้จะทำให้พบกับ การเข้าถึงความสุขภายใน (Inner Happiness) ซึ่งเมื่อมีความสุขภายในแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พยาบาลก็จะสามารถปรับใจให้ ยอมรับสภาพปัญหาต่างๆ ได้โดยปราศจากความทุกข์ มีแต่ความเห็นชอบ เกิดความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของธรรมชาติ และพยาบาลผู้ที่จะมีความเห็นชอบได้ ควรเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ เมื่อเข้าถึงความสุขจากภายในที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ส่งผลสู่ภาย
นอกและมีความสำเร็จในการทำงานอย่างมีความสุข ดังรูปแบบที่ผู้วิจัยนำเสนอคือ VARISADA Model

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕