หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วิทูล หนูยิ้มซ้าย
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๗ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อ พิพาทสภาทนายความกับพุทธสันติวิธี(สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : วิทูล หนูยิ้มซ้าย ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา
  อดุลย์ ขันทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความ (๒) เพื่อศึกษาแนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักการทางพระพุทธศาสนา (๓) เพื่อเปรียบเทียบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความกับหลักพุทธสันติวิธี

              ผลการศึกษาพบว่า

              ๑) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความ: มีการควบคุมทนายความผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยใช้จรรยาบรรณของทนายความผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งประกอบด้วยหลักดังต่อไปนี้ คือ ต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ไม่มีอคติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้ความเป็นธรรมต่อคู่พิพาทเสมอกัน เก็บรักษาข้อเท็จจริงที่ได้จากการไกล่เกลี่ยเป็นความลับ ห้ามมิให้รับเป็นทนายความ หรืออนุญาโตตุลาการให้แก่คู่พิพาทในคดีที่ตนเองรับหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในคดีแล้ว ให้คำแนะนำชี้แจงข้อดีข้อเสียให้คู่พิพาทรับทราบ ประพฤติอยู่ในกรอบจริยธรรมและมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. ๒๕๒๙  สำหรับคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต้องเป็นทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี และมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปีและไม่เคยต้องโทษฐานประพฤติผิดมรรยาททนายความหรือไม่อยู่ระหว่างการถูกสอบสวนในข้อหาว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความ ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี ไม่เป็นผู้กระทำการใดซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต และผ่านการฝึกอมรมตามหลักเกณฑ์ที่สภาทนายความกำหนด

              ๒) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักพุทธสันติวิธี:  หลักพุทธสันติวิธีคือหลักธรรมที่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้คือ มีเมตตาต่อกัน ลดอคติที่มีต่อกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน และมีสัมมาวาจาต่อกัน ส่วนคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักพุทธสันติวิธีคือหลัก กัลยาณมิตรธรรม

              ๓) ผลการเปรียบเทียบกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความกับหลักพุทธสันติวิธี: มีความสอดคล้องกันทั้งทางด้านเนื้อหาและแนวทางปฏิบัติ โดยพบว่าระเบียบศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยเฉพาะส่วนของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและคุณสมบัติของทนายความผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ไม่มีส่วนใดที่ขัดแย้งกับหลักพุทธสันติวิธี และจากการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความ  หัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ และทนายความผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทรวมทั้งหมด ๙ ท่าน พบว่าแนวคิด และแนวทางการปฏิบัติของทุกท่านเป็นไปตามหลักการของพุทธสันติวิธี

          โดยสรุปแล้ว ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทควรมีการนำหลักพุทธสันติวิธีมาประกอบ โดยเฉพาะหลัก กัลยาณมิตรธรรม นั้น ควรนำมาใช้ประกอบเป็นคุณสมบัติของตัวผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทควรเป็นไปด้วยความเมตตา ไม่มีอคติและให้อภัยต่อกัน รวมถึงการมีสัมมาวาจาต่อกัน โดยเฉพาะตัวผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทควรต้องมีและใช้หลักธรรมเหล่านี้เพื่อควบคุมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕