หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสิทธิพงษ์ สิทฺธิวาที (จันทร์สิงห์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๕ ครั้ง
การปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระสิทธิพงษ์ สิทฺธิวาที (จันทร์สิงห์) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ยุทธนา ปราณีต
  เติมศักดิ์ ทองอินทร์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาระดับการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากร ภายในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางพัฒนาในการปฏิบัติงานของบุคลากร ตามหลักอิทธิบาท ๔  ของสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) การวิจัยเชิงปริมาณ ดำเนินการโดย ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๗๒ คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิ  จากประชากร จำนวน ๓๐๐ คน ซึ่งเป็นบุคลากรในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบประมาณค่า ๕ ระดับ ที่ความเชื่อมั่น ๐.๙๕๓ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ (Frequency), ค่าร้อยละ (Percentage), ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทดสอบสมมติฐาน ด้วยค่าที (t-test) และค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างเป็นสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD.)  ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการโดยสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informants) ๙ คน เลือกแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Technique)

ผลการวิจัยพบว่า

๑) การปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร  ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( =๓.๙๖) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าบุคลากรมีการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔  อยู่ในระดับมากทุกด้าน  โดยมีการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔  ในด้านจิตตะมากที่สุด ( =๓.๙๘) และมีการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ น้อยที่สุดคือในด้านวิมังสา ( =๓.๙๔)

๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร  จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ประชาชนที่มีอายุต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕  จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนบุคลากรที่มีเพศ อายุ วุฒิการศึกษา ตำแหน่ง และประสบการณ์ทำงานต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร  ไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้

๓) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรในสำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ปัญหา ได้แก่ ขาดการอำนวยการเกี่ยวกับ บุคลากร อุปกรณ์และทุน ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับความพากเพียร บุคลากรขาดความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ขาดการติดตามและตรวจสอบงาน ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาได้แก่ เพิ่มการสนับสนุนบุคลากรอุปกรณ์และทุนในการดำเนินงาน จัดสรรค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับงาน จัดให้มีการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพความรู้ความสามารถของบุคลากรและจัดให้มีระบบการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติงานของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

                ๔) ผลการสัมภาษณ์ พบว่า การทำงานต้องเริ่มต้นที่ความมีใจพร้อมที่จะทำ จึงจะทำร่วมกันได้ผลดี  การปฏิบัติงานด้วยความเพียรพยายามจึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง  การศึกษาปัญหา อุปสรรคของการทำงานทำให้เข้าใจและนำไปปรับปรุงแก้ไข  การใช้สติปัญญาใคร่ครวญอย่างดีย่อมทำให้งานสำเร็จถูกต้องได้

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕