หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จิตรา แสงผาบ
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๕ ครั้ง
การให้บริการตามหลักสังคหวัตถุธรรมของสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน(รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : จิตรา แสงผาบ ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๑/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโสภิต
  ศรีธน นันตาลิต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 22 มีนาคม 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              การวิจัยเรื่อง  การให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔  ของสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Methods) มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ ๑) เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน ๒) เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ตามความคิดเห็นของประชาชนผู้มาใช้บริการ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษา ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ และ ๔) เพื่อศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ซึ่งประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย         คือ ประชาชนที่มาขอรับบริการจากสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน  จากการมาใช้บริการตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด จำนวน ๒,๐๐๐ คนต่อเดือน ผู้วิจัยได้กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยการใช้ตารางสำเร็จรูปของเครซี่และมอร์แกน (R.V.Krejcie & Morgan) ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 322 คน จากนั้นจึงทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบบังเอิญ และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์    เพื่อหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทำการทดสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบค่าที (t-test)     และค่าเอฟ (F-test) ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way Anova) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการหาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference) ในส่วนของข้อคำถามปลายเปิดที่แสดงปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแบบสอบถามปลายเปิด จากนั้นจะทำการวิเคราะห์ โดยใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มข้อมูล (Data Grouping) สาระสำคัญของประเด็นการสัมภาษณ์ จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis Technique)

 

 

ผลการวิจัยพบว่า

             1. ระดับความพึงพอใจในการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔  ของสำนักงานที่ดินจังหวัด ลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พบว่า ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับความคิดเห็น ค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.55) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านอัตถจริยาอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านทาน ปิยวาจาและอัตถจริยา อยู่ในระดับปานกลาง

             2. การเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจในการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔  ของสำนักงานที่ดินจังหวัด ลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน การทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างตามการจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ ความถี่ในการมาใช้บริการ พบว่า ประชาชนที่มีระดับการศึกษาและอาชีพต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการให้บริการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕  สำหรับเพศ อายุและจำนวนครั้งที่มาใช้บริการ มีความพึงพอใจต่อการให้บริการไม่แตกต่างกัน

             3. ปัญหาและอุปสรรคในระดับความพึงพอใจในการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔  ของสำนักงานที่ดินจังหวัด ลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สรุปได้คือ เจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัดจึงทำให้การบริการไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร เจ้าหน้าที่บางครั้งยังพูดไม่ไพเราะ ไม่มีความกระตือรือร้นในการให้บริการและการให้บริการยังไม่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ควรมีการจัดเวรเพื่อให้บริการให้คำแนะนำต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ควรมีการพูดจาให้ไพเราะขึ้นขณะให้บริการ ควรมีความกระตือรือร้นในการให้บริการและควรให้บริการด้วยความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกคน

             4. ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่เน้นในเรื่องของการให้บริการที่สอดคล้องกับหลักสังคหวัตถุ ๔ โดยเฉพาะรูปแบบการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีการพูดจาที่ไพเราะ การช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความประทับใจแก่ประชาชนผู้มาใช้บริการ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕