หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เทอดศักดิ์ ปฏิภาณวัฒน์
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๔ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโรคตามหลักเวชกรรมแนวพุทธ กับการรักษาพยาบาลตามแนวแพทย์แผนไทย
ชื่อผู้วิจัย : เทอดศักดิ์ ปฏิภาณวัฒน์ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๙/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  บุรินทร์ ภู่สกุล
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

             สารนิพนธ์เล่มนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหลักเวชกรรมตามแนวพุทธในพระไตรปิฎกและเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโรคกับหลักเวชกรรมและการรักษาพยาบาลตามแนวแพทย์แผนไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร (Documentary research) จากผลการวิจัย พบว่า

             หลักเวชกรรมตามแนวพุทธในพระไตรปิฎกนั้น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุมีเครื่องยาไว้ใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์ที่เกิดจากโรคเบียดเบียนทางร่างกาย โดยให้ใช้ตามความจำเป็นและตามความเหมาะสมกับโรค ได้แก่ เภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย ที่เป็นได้ทั้งยาและมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุที่อาพาธด้วยโรคผอมเหลือง ฉันอาหารไม่ได้ให้รับประทานแล้วเก็บไว้ฉันได้นานถึง ๗ วัน และให้ฉันได้ตลอด นอกจากเภสัชทั้ง ๕ แล้วยังใช้สมุนไพรที่ได้จากต้นไม้ต่างๆ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ ผลไม้ ยางไม้ แร่ธาตุต่างๆ เช่น เกลือ กำมะถัน ผงมูลโคแห้ง แก้แผลพุพองและกลิ่นตัว และยานัตถุ์แก้ปวดหัว เป็นต้น

             พระพุทธเจ้า ทรงเปรียบเทียบโรคทางกาย รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันก็หายได้ แต่โรคทางวิญญาณ คือโรคทางความคิด หรือโรคทางกิเลสตัณหา ได้แก่ จิตหรือมโนส่วนลึกที่มันเป็นได้ด้วยอำนาจของกิเลส โดยเฉพาะคืออวิชชาหรือมิจฉาทิฏฐิ ต้องใช้แพทย์ทางวิญญาณ คือ “พระพุทธเจ้า” มารักษาด้วยยา คือ “ธรรมะ” เท่านั้นถึงจะหายขาดจากโรคทางวิญญาณนี้ได้ โดยทรงมีวิธีการรักษาคือทรงใช้ญาณตรวจดูโรค เมื่อรู้ภาวะของเหล่าสรรพสัตว์แล้ว ก็ทรงวางยา (การแสดงธรรม) คือ ธรรมโอสถ เพื่อเป็นการสกัดต้นตอของโรคที่นอนเนื่องในสันดาน ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

             ความสัมพันธ์ระหว่างโรคกับหลักเวชกรรมและการรักษาพยาบาลตามแนวแพทย์แผนไทยนั้น ผู้ที่จะเป็นแพทย์ต้องเรียนรู้ที่ตั้งแรกเกิดของโรค รู้จักชื่อของโรค รู้จักยาสำหรับรักษาโรคและรู้ว่ายาใดควรรักษาโรคใด การซักประวัติและการตรวจร่างกายตามแนวทางแพทย์แผนไทยจะช่วยให้ได้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยเพื่อวางยาและรักษาโรคให้กับผู้ป่วย ซึ่งในการตรวจโรคนั้นแพทย์จะต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอยู่เสมอไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาก็ต้องแก้ไขในเบื้องต้น

             การรักษาโรคตามหลักเวชกรรมแพทย์แผนไทย เป็นการวางยาให้ถูกกับโรคตามหลักของการรักษาด้วยสมุนไพร การปรับพฤติกรรมที่เป็นมูลเหตุให้เกิดโรคโดยใช้หลักธรรมานามัย การรักษาด้วยการนวด อบ ประคบสมุนไพร การนึ่งหม้อเกลือ การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติและการให้คำแนะนำการปฏิบัติตนแก่ผู้ป่วยและที่สำคัญต้องมีคุณธรรมของแพทย์เป็นเครื่องประดับ มีความโอบอ้อมอารีต่อผู้ป่วย มีอัธยาศัยเรียบร้อยเป็นที่พอใจของคนทั้งหลายด้วย      

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕