หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูวิเวกธรรมาภิราม
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
ศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในภาวนาสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระครูวิเวกธรรมาภิราม ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโกมุทสิทธิการ
  ณัทธีร์ ศรีดี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๙/มีนาคม/๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาหลักธรรมของภาวนาสูตร เพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในภาวนาสูตร โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

ภาวนาสูตร เป็นสูตรที่มาในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งปรากฏอยู่ ๒ แห่ง คือ สูตรที่ ๑ มาใน
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เพื่อกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก ส่วนสูตรที่ ๒ มาใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ว่าด้วยผลของการเจริญภาวนาบรรยายโวหารแบบมีอุปมาอุปมัยประกอบ เมื่อหมั่นประกอบภาวนาอยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ และสังโยชน์ทั้งหลายย่อมระงับ ดับไปโดยไม่ยาก

หลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทมีเนื้อหาหลักธรรมประกอบ ด้วย (๑) อาตาปี มีความเพียร (๒) สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ (๓) สติมา มีสติ ในการเจริญสติปัฏฐาน ต้องมีสติเป็นประธานประชุมลงใน ๔ ฐาน คือกาย เวทนา จิตและธรรม อันเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาญาณเห็นแจ้งหยั่งรู้สภาวธรรม อันเป็นอารมณ์ทางกาย ทางใจ หรือรูป นามตามความเป็นจริงว่าสภาวธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล บุรุษหรือสตรี และมีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่สวยงาม ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา ถ่ายถอนตัณหาอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ทั้งที่เป็นรูปขันธ์ และนามขันธ์ ทำให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง

แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในภาวนาสูตรมีฐานในการเจริญภาวนาอยู่ ๔ ฐาน คือ (๑) ผู้มีสมถยานิกะอ่อน มีตัณหาจริตอ่อน พิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ (๒) ผู้มีสมถยานิกะแก่กล้า มีตัณหาจริตแก่กล้า พิจารณาเวทนานุปัสสนาเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ (๓) ผู้มีวิปัสสนายานิกะอ่อน มีทิฏฐิจริตอ่อนพิจารณาจิตตานุปัสสนาเป็นอารมณ์แห่งความบริสุทธิ์ (๔) ผู้มีวิปัสสนายานิกะแก่กล้า มีทิฏฐิจริตแก่กล้าพิจารณาธัมมานุปัสสนาเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ ถ้าปราศจาก ๔ ฐานนี้แล้ว ไม่มีเวไนยสัตว์หมู่เหล่าใดสามารถบรรลุธรรมได้

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕