หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูพิหารธรรมาทร (ธีระชัย ชาครธมฺโม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
ศึกษาการกำหนดรู้ทวิปัญจวิญญาณจิตในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระครูพิหารธรรมาทร (ธีระชัย ชาครธมฺโม) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  ชัยชาญ ศรีหานู
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๐/มีนาคม/๒๕๕9
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาทวิปัญจวิญญาณจิตในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการกำหนดรู้ทวิปัญจวิญญาณจิตในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             ทวิปัญจวิญญาณ คือ วิบากจิตที่ทำกิจรู้อารมณ์ในทวาร ๕ วิบากจิตก็คือเป็นผลของกรรมที่เคยได้กระทำไว้แล้ว กรรมมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม วิบากจึงมีทั้งกุศลวิบากและอกุศลวิบาก จักขุวิญญาณจึงมี ๒ ฝ่าย คือ (๑) จักขุวิญาณกุศลวิบาก (๒) จักขุวิญาณอกุศลวิบาก ทางวิญญาณอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน วิญญาณทางตาขณะที่จิตเห็นสิ่งที่ดีเป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น ขยะสิ่งปฏิกูล เป็นต้นเป็นอกุศลวิบาก อีกอย่างหนึ่งจิตแต่ละขณะเมื่อเกิดขึ้นตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วดับไป ไม่ยั่งยืนอยู่นาน ทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ที่ดีหรือไม่ดี เป็นผลของกรรม

             วิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญปัญญาให้เกิดการเห็นแจ้งโดยประการต่าง ๆ ในสภาวะลักษณะรูปธรรมและนามธรรมตามความเป็นจริงว่า สภาวธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่อยู่ในบังคับบัญชา หมายความว่า ผู้ปฏิบัติได้เจริญวิปัสสนาจนเกิดปัญญาเห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายตรงต่อสภาวะของมันตามด้วยสติและสัมปชัญญะ โดยการกำหนดรู้ทวิปัญจวิญญาณจิต ทั้ง ๒ ฝ่ายซึ่งนับเข้าในวิญญาณขันธ์ เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งถึงความไม่ใช่ตัวตนของสภาวธรรม เป็นเหตุละทิฏฐิวิปลาส จิตตวิปลาส และสัญญาวิปลาสในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน

             การกำหนดรู้วิญญาณขันธ์ต้องเริ่มด้วยการกำหนดรูปธรรมเป็นอารมณ์ก่อนเสมอ จนเมื่อกำหนดไปโดยลำดับ นามธรรมคือวิญญาณจิตก็จะปรากฏขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นสภาวธรรมต่าง ๆ เห็นเหตุเกิดและเหตุดับของทวิปัญจวิญญาณจิต ๕ มีอวิชชา ตัณหา กรรม นามรูปและการเกิดขึ้นของวิญญาณ ตามความเป็นจริง การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็จะก้าวหน้าไปตามลำดับแห่งวิสุทธิ ๗ และวิปัสสนาญาณ ๙ ทำให้เกิดปัญญาหยั่งเห็นชัดขึ้นว่าทวิปัญจวิญญาณจิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่อยู่ในบังคับบัญชา จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในจักขุวิญญาณจิต เป็นต้น จิตก็จะน้อมไปเพื่อความหลุดพ้น ละอุปาทานในขันธ์ ๕ ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ บรรลุพระนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕