หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูติลกานุรักษ์ (ปราโมทย์ มหาวีโร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๔ ครั้ง
ศึกษามูลกัมมัฏฐานในกายคตาสติ
ชื่อผู้วิจัย : พระครูติลกานุรักษ์ (ปราโมทย์ มหาวีโร) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วิโรจน์ คุ้มครอง
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑/มีนาคม/๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษามูลกัมมัฏฐานในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษามูลกัมมัฏฐานในกายคตาสติ โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

มูลกัมมัฏฐาน หมายถึงกัมมัฏฐานพื้นฐานที่เป็นแนวทางในการอบรมจิต เพื่อการระงับนิวรณ์ โดยการกำหนดพิจารณาส่วนแห่งร่างกาย ๕ อย่าง คือเกสา (ผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตโจ (หนัง) ทั้งโดยอนุโลม (เที่ยวไป) แล้วให้ท่องย้อนกลับโดยปฏิโลม (เที่ยวกลับ) เพื่อให้พระภิกษุผู้เพิ่งบวชเข้ามาในพระธรรมวินัยจะได้รู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขาร ไม่หลงยึดติดไปกับภาพลวงตาอันเกิดขึ้นจากอวิชชา จนมองไม่เห็นตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมองภายนอกก็ดูดี แต่ถ้าเราดูแลไม่ดีก็จะสกปรกและกลายเป็นรังของโรคต่าง ๆ

กายคตาสติ หมายถึง สติเป็นเครื่องระลึกรู้ส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายในร่างกาย ๓๒ ประการ กายคตาสติกัมมัฏฐานนี้ เรียกว่า ทวัตติงสาการกัมมัฏฐาน ก็ได้ หรือ โกฏฐาสกัมมัฏฐาน ก็ได้มูลกรรมฐานในกายคตาสติ ก็คือ ส่วนของร่างกาย ๕ ประการแรก ในบรรดาส่วนร่างกายที่ท่านแบ่งไว้ ๓๒ ประการ ท่านเรียกว่า ตจปัญจกกัมมัฏฐาน อันเป็นปัญจกะแรกของอาการ ๓๒ ซึ่งเป็นกรรมฐานที่ใช้เพื่อพิจารณา ส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง ที่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์โดยความเป็นของปฏิกูล มีลักษณะล้วนเป็นอสุภะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ กายนี้เป็นที่ตั้งของชีวิต เป็นที่ตั้งของการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยตัณหาอุปาทาน จนถอนการยึดมั่นถือมั่นในร่างกายได้ และเป็นเหตุให้บรรลุโลกุตตรธรรม

การเจริญมูลกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยตรง เพราะการพิจารณาร่างกาย คือ อาการ ๕ นี้ สอดคล้องกับการเจริญสติปัฏฐานในหมวด
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง อานิสงส์ของการปฏิบัติมูลกรรมฐานนั้น พุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เป็นผู้อดกลั้นต่อความไม่ยินดีและยินร้ายได้ อดกลั้นต่อภัยและความหวาดกลัวได้ อดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหายเป็นต้น ทำให้ได้ฌาน ๔ อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นเหตุให้บรรลุอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ เป็นเหตุให้ได้ทิพพโสตญาณ และเป็นเหตุให้ได้เจโตปริยญาณ เป็นเหตุให้ได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นเหตุให้ได้จุตูปปาตญาณ และเป็นเหตุทำอาสวะให้สิ้นไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕