หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระทักษกร ภูริปญฺโญ (สมขวัญ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
ศึกษาขันติในฐานะหลักธรรมที่ส่งเสริมการรักษาศีล ๕ ข้อที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระทักษกร ภูริปญฺโญ (สมขวัญ) ข้อมูลวันที่ : ๐๒/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาพจน์ สุวโจ
  ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักคำสอนเรื่องขันติในพระพุทธศาสนา      ๒) เพื่อศึกษาศีล ๕ ข้อที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ขันติในฐานะหลักธรรมที่ส่งเสริมการรักษาศีล ๕ ข้อที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา

ผลการวิจัยพบว่า

๑) ขันติ หมายถึง ความอดทน อดกลั้น ทั้งทางกายและทางใจต่อสิ่งที่มากระทบ โดยแสดงกิริยาที่เหมาะสม จนกระทั่งการอดทนต่อกิเลส ไม่ล่วงละเมิด เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม ไม่สร้างเวรภัย ไม่ดุร้าย ไม่ก่อโทษ ไม่หลงลืมสติ แนวปฏิบัติมี ๔ ประการ คือ (๑) การอดทนต่อความลำบาก หมายถึง การมีจิตใจเข้มแข็ง พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ (๒) ความอดทนต่อความทุกข์ คือ เมื่อเกิดความทุกข์ต้องไม่แสดงออกจนเกินกว่าเหตุ (๓) ความอดทนต่อความไม่พอใจ ความเจ็บใจ หมายถึง ความอดทนที่จะไม่กระทำการโต้ตอบเมื่อถูกด่า ถูกรังแก ถูกดูหมิ่น ถูกนินทา หรือถูกผู้อื่นยั่วยุ (๔) ความอดทนต่ออำนาจกิเลส หมายถึง อดทนต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามายั่วยวนชวนให้หลงใหล หมกมุ่นมัวเมา

๒) ศีล ๕ ข้อที่ ๑ (ปาณาติบาต) เป็นเครื่องรักษาอวัยวะและชีวิตของสรรพสัตว์ มิให้เบียดเบียนกันและกัน เพื่อให้มนุษย์คลายความเหี้ยมโหด มีเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เห็นชีวิตผู้อื่นมีคุณค่าเท่าเทียมกับชีวิตตน มุ่งคุ้มครองป้องกันชีวิต ซึ่งผู้รักษาศีลจะต้องละเว้น คือ (๑) การฆ่า หมายถึง การทำให้สัตว์ตายด้วยตนเอง ใช้ผู้อื่นหรือร่วมกันทำ (๒) การทำร้ายร่างกาย คือ การทำให้ได้รับบาดเจ็บด้วยตนเอง ใช้ผู้อื่นหรือร่วมกัน และ (๓) การทรมาน คือ การประพฤติเหี้ยมโหดต่อสัตว์ โดยไม่มีความปรานี ทำให้สัตว์ได้รับความลำบาก

๓) ขันติในฐานะหลักธรรมที่ส่งเสริมการรักษาศีล ๕ ข้อที่ ๑ ในพระพุทธศาสนานั้น ผลการวิจัยสามารถ วิเคราะห์ได้ ๓ หัวข้อหลัก คือ ๑) ขันติในฐานะมีลักษณะที่ส่งเสริมความประพฤติเพื่อการพัฒนาตนไปสู่ความดีงาม การนำขันติมาประพฤติย่อมเป็นเหตุให้บุคคลควบคุมโลภะ โทสะ โมหะ ตลอดถึงลดโลภะ โทสะ โมหะ ลงได้ จึงมีส่วนในการรักษาศีล ๕ ข้อที่ ๑ เพราะเป็นการลดความโลภในการที่จะฆ่า ลดความหลงผิดที่คิดว่าฆ่าและลดโทสะ ในกรณีขาดสติ ๒) ขันติในฐานะที่ส่งเสริมให้ผู้ประพฤติเว้นจากการกระทำอันเป็นโทษ รวมถึงควบคุมโลภะ โทสะ โมหะ ยังสามารถนำขันติมาเป็นคุณธรรมเพื่อพัฒนาตนเองให้ยิ่งขึ้นไป เพราะการกระทำปาณาติบาต นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นโทษ และ ๓) ขันติกับการรักษาศีลข้อปาณาติบาตในพระพุทธศาสนาในแง่ที่ศีลเป็นวินัย เป็นการนำขันติในแง่ที่เป็นคุณธรรมสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันมาทำหน้าที่เป็นคุณธรรมพื้นฐานสนับสนุนการรักษาศีลข้อปาณาติบาตด้วยการอดทน อดกลั้น เพียรระวังไม่ให้ โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นภายในจิตใจ รวมถึงเป็นเครื่องมือสกัดกั้นมิให้ล่วงละเมิดศีล ด้วยการอดทน อดกลั้น ระงับความคิด เป็นการนำขันติ ทั้งในแง่ที่เป็นคุณธรรมและศีลธรรมมาส่งเสริมการรักษาศีลข้อปาณาติบาต ด้วยอาการสำรวมสงบเสงี่ยม ในแง่ที่ศีลเป็นธรรมเพื่อผลบุญ เป็นการนำขันติในแง่ที่เป็นคุณธรรมสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันมาส่งเสริมการรักษาศีลข้อปาณาติบาตให้มั่นคง จนกระทั่งเป็นศีลที่สมบูรณ์ทั้งวินัยและธรรม ในขณะที่การรักษาศีลข้อปาณาติบาตในแง่ที่ศีลเป็นธรรมเพื่อธรรม เป็นการนำขันติในแง่ที่เป็นคุณธรรมสำหรับการพัฒนาตนไปสู่ความดีงามมา เป็นคุณธรรมส่งเสริมหลักธรรมอื่น เพื่อพัฒนาศีลปาณาติบาตไปสู่ความประพฤติอย่างสูง อันจะเป็นการนำสันติสุขมาโลก

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕