หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการจิรวัฒน์ จกฺกวโร (ปิ่นสุวรรณภูนิธิ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๔ ครั้ง
ศึกษาทุกข์ในไตรลักษณ์และทุกข์ในอริยสัจ ๔ ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการจิรวัฒน์ จกฺกวโร (ปิ่นสุวรรณภูนิธิ) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุรชัย วราสโภ
  เวทย์ บรรณกรกุล
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาทุกข์ในไตรลักษณ์ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาทุกข์ในอริยสัจ ๔ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาทุกข์ในไตรลักษณ์และทุกข์ในอริยสัจ ๔ ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา และหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น เรียบเรียงบรรยายตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

ทุกข์ หมายถึง เป็นสิ่งมีภัย บีบคั้นผันแปร เป็นของปรุงแต่ง คือ ถูกปัจจัยต่าง ๆ มาชุมนุมกันแล้วถูกปรุงแต่ง มีสภาพที่ขึ้นต่อปัจจัย ไม่เป็นของคงตัว คือในตัวของมันเองก็มีสภาพที่แผดเผาให้ย่อยยับสลายไป ผู้มีกิเลสที่เข้าไปยึดติดถือมั่น อาจเร้าร้อน กระวนกระวาย โดยมากเกิดขึ้นแก่ผู้มีปัญญาน้อย ที่ยังไม่เคยเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อเกิดปัญญาในเรื่อง ทุกข์ มีปรากฏในหมวดธรรมสำคัญ ๓ หมวด คือ ๑)  ในเวทนา คือ ทุกข์ สุข อุเบกขา ๒)  ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๓)  ในอริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ในไตรลักษณ์ หมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่ มีสภาวะขัดแย้งทำให้คงทนสภาพอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ยกเลิกไม่ได้ เป็นไปตามธรรมดา ซึ่งกินความกว้างขวางครอบคลุมทั้งหมด ดังความว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์

ทุกข์ในอริยสัจ หมายถึง สภาวะที่เกิดขึ้นแก่เบญจขันธ์ ที่เป็นอุปาทานขันธ์ กระทบเป็นปัญหาต่อชีวิต ในลักษณะมีการแปรปรวน ปรุงแต่งอยู่เนือง ๆ เร้าร้อนอยู่เรื่อย ๆ ไม่คงที่ แต่สามารถที่จะยกเลิกแก้ไข ทำให้หมดสิ้นไปได้ ด้วยการมีปัญญารู้เท่าทันตามความเป็นจริง ตามอาการที่ปรากฏ มีรูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส จิตนึกคิด เกิดขึ้นในเบญจขันธ์

ทุกข์ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ทุกข์อริยสัจ คือ สภาวธรรมที่เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ แต่จำกัดขอบเขตเฉพาะเท่าที่จะเกิดเป็นปัญหาแก่มนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกระทบต่อชีวิต หมายเอาเฉพาะเรื่องเบญจขันธ์ หรืออุปาทานขันธ์ เพื่ออบรมพัฒนาสติปัญญา ให้รู้แจ้งชัดในสภาวธรรมที่ปรากฏ ตามความเป็นจริง ในสิ่งที่จริงเกิดขึ้นโดยธรรมชาติปราศจากการกระทำขึ้น หรือการปรุงแต่ง เพื่อการดับทุกข์ อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ของการเจริญวิปัสสนาภาวนาในพุทธศาสนาเถรวาท

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕