หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดสมเกียรติ เปมสีโล (โฉมจิตร์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๑ ครั้ง
ศึกษาการบรรลุธรรมของพระอนาคามีที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดสมเกียรติ เปมสีโล (โฉมจิตร์) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุรชัย วราสโภ
  ณัทธีร์ ศรีดี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักธรรมและหลักการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการบรรลุธรรมของพระอนาคามีที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ผลการวิจัยพบว่า

การบรรลุธรรม หมายถึง การบรรลุนวโลกุตรธรรม คือ ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก หรือ สภาวะพ้นโลก มี ๙ อย่าง ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคล เมื่อเรียงลำดับจากต่ำสุดไปถึงสูงสุดได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

หลักธรรมและหลักปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมนั้น ปฏิบัติด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นทางสายเดียว ประกอบด้วย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยมีโพธิปักขิยธรรมช่วยสนับสนุน อาศัยวิปัสสนาญาณและมรรคญาณที่เกิดจากการอบรมจิต เมื่อจิตระลึกรู้สภาวธรรมล้วน ๆ และมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในสภาวธรรม มีความเพียรเป็นเลิศ ปัญญาที่เกิดร่วมกับสติและสมาธิย่อมพัฒนาแก่กล้าขึ้นตามลำดับ การปฏิบัติมี ๒ ประเภท คือ ๑ สุกขวิปัสสกะ หมายถึง ผู้เห็นอย่างแห้งแล้ง คือ ผู้มิได้ฌานบรรลุธรรมด้วยเจริญแต่วิปัสสนาล้วน และ ๒ สมถยานิก ผู้มีสมถะเป็นฌาน คือ ท่านผู้เจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล

การบรรลุธรรมของพระอนาคามีเป็นผลของการบรรลุธรรมแต่ละระดับ สามารถขจัดกิเลสได้ตามลำดับ ตั้งแต่กิเลสอย่างหยาบไปจนถึงกิเลสอย่างละเอียด โดยมีสังโยชน์ ๑๐ อันเป็นธรรมชาติที่ผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏทุกข์ได้ เหมือนหนึ่งเชือกที่ผูกโยงสัตว์ หรือวัตถุสิ่งของไว้ไม่ให้หลุดไป มีปปัญจธรรม อันได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ คอยขัดขวางการปฏิบัติ เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้า ผู้ปฏิบัติสามารถละสังโยชน์ และอนุสัยต่าง ๆ ได้ตามกำลังของมรรค สามารถบรรลุมรรคผล สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาโดยลำดับ ส่วนผู้ที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีได้นั้นต้องสามารถละโอรัมภาคิยสังโยชน์ อันเป็นสังโยชน์เบื้องต่ำได้หมด คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ การบรรลุอรหัตตมรรคซึ่งเป็นเครื่องประหานกามุปาทาน เป็นความปรารถนาและแรงจูงใจให้พระอนาคามีกระทำกรรมดีต่อไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕