หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ธีรโชติ เกิดแก้ว
 
เข้าชม : ๒๐๑๐๕ ครั้ง
มิลินทปัญหาฎีกา : การตรวจชำระและการศึกษาเชิงวิเคราะห์
ชื่อผู้วิจัย : ธีรโชติ เกิดแก้ว ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  สุเทพ พรมเลิศ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

                 วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีจุดประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและสาระสำคัญของคัมภีร์มิลินทปัญหาฎีกา (๒) เพื่อตรวจชำระและแปลคัมภีร์มิลินทปัญหาฎีกาเป็นภาษาไทย (๓) ศึกษาวิเคราะห์เนื้อหา วิธีการนำเสนอ ลักษณะและรูปแบบการประพันธ์ การใช้ภาษา สำนวนโวหาร และคุณค่าของคัมภีร์มิลินทปัญหาฎีกา

                 ผลการวิจัยพบว่า คัมภีร์นี้มีชื่อเต็มว่า มธุรัตถปกาสินี มิลินทปัญหาฎีกา แต่งโดยพระมหาติปิฎกจูฬาภัยเถระหรือนามย่อว่าพระติปาติ พระเถระชาวเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. ๒๐๑๖ เพื่ออธิบายความหมายของศัพท์หรือประโยคบางส่วนในคัมภีร์มิลินทปัญหาที่มีความหมายยากหรือยังไม่ชัดเจนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                 คัมภีร์มิลินทปัญหาฎีกานี้มีโครงสร้างของเนื้อหา ๖ ส่วน คือ (๑) คันถารัมภกถา ถ้อยคำเริ่มต้นของการแต่งคัมภีร์ที่ประกอบด้วยบทนมัสการพระรัตนตรัย การบอกชื่อคัมภีร์ ผู้แต่ง วัตถุประสงค์ของการแต่ง และขนาดของคัมภีร์ (๒) ปกิณณกวจนวัณณนา การอธิบายศัพท์และประโยคที่มีความหมายยากหรือยังไม่ชัดเจน (๓) ชาตกุทธรณะ การนำเรื่องอดีตของพระพุทธเจ้าและพระเทวทัตมาแสดง (๔) คาถาสรุป การนำคาถาในมิลินทปัญหามาสรุปไว้ ๑๐๔ คาถา (๕) สังขยาสรุป การนำหลักธรรมหรือเรื่องที่น่าสนใจในมิลินทปัญหามาจัดไว้เป็นหมวดหมู่ รวม ๒๕ หมวด (๖) นิคมนกถา คำลงท้ายที่กล่าวถึงวิธีการศึกษาคัมภีร์ ชื่อคัมภีร์ ชื่อผู้แต่ง คุณสมบัติของผู้แต่ง และการตั้งความปรารถนาของผู้แต่ง

                 ผู้แต่งได้นำเนื้อหามาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ปกรณ์วิเสส และคัมภีร์อื่น ๆ เป็นบางส่วน เพื่ออธิบายความหมายของศัพท์หรือประโยคให้ชัดเจน ใช้อ้างอิงหรือยืนยันเรื่องที่อธิบาย เสริมความให้ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และขยายความให้กว้างออกไป

                 วิธีการคัดลอกและการนำเสนอเนื้อหามี ๓ ลักษณะ คือ (๑) คัดลอกและนำเสนอไปตามที่คัดลอกมาทั้งหมด (๒) คัดลอกมาบางส่วนและนำเสนอไปตามนั้น (๓) คัดลอกมาบางส่วน เปลี่ยนแปลงศัพท์หรือข้อความบางส่วน และแต่งเสริมเป็นบางส่วน

                 ผู้แต่งใช้กลวิธีในการอธิบาย ๖ ประการ คือ (๑) สัมพันธ์ อธิบายถึงการทำหน้าที่ของศัพท์ในประโยค (๒) บท บอกให้รู้ว่าบทที่กำลังกล่าวอยู่นี้เป็นอะไร เช่น นาม เป็นต้น (๓) ปทัตถะ อธิบายความหมายของบทที่ยกมาว่ามีความหมายหรือแปลอย่างไร (๔) วิคคหะ การตั้งรูปวิเคราะห์ของศัพท์สำคัญเพื่อให้ทราบความหมายและที่มาของศัพท์นั้น (๕) โจทนา การตั้งคำถาม (๖) ปริหาระ การตอบคำถาม โดยผู้แต่งเป็นผู้ตั้งคำถามและตอบเอง

                 คำศัพท์หรือประโยคที่ผู้แต่งนำมาอธิบายมี ๕ ลักษณะคือ (๑) คำศัพท์หรือประโยคที่มีความหมายทางไวยากรณ์ไม่ชัดเจน (๒) คำวิเสสนสรรพนามที่ไม่ระบุบทนามไว้ให้ชัดเจน (๓) คำศัพท์ที่มีความหมายได้หลายนัย (๔) คำศัพท์หรือประโยคที่ควรขยายความเพิ่มเติม (๕) คำศัพท์หรือประโยคที่มีความหมายยาก

                 รูปแบบการประพันธ์มี ๓ รูปแบบ คือ (๑) ปัชชะ ร้อยกรอง ส่วนใหญ่เป็นบทประพันธ์ที่ผู้แต่งคัดลอกมาจากที่อื่น ส่วนที่แต่งเองใช้การประพันธ์แบบฉันทลักษณ์มี ๓ ฉันท์ ได้แก่ ปัฏฐยา-วัตรฉันท์ อุเปนทรวิเชียรฉันท์ และอินทรวงศ์ฉันท์ (๒) คัชชะ ร้อยแก้ว เป็นรูปแบบการประพันธ์ที่ผู้แต่งใช้เป็นส่วนใหญ่ในคัมภีร์นี้ (๓) วิมิสสะ ร้อยแก้วผสมร้อยกรองที่ผู้แต่งนำบทประพันธ์ประเภทร้อยกรองมาแทรกไว้ในเนื้อหาที่เป็นร้อยแก้ว

                 ภาษาและสำนวนบาลีเป็นภาษาและสำนวนบาลีแบบลังกาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเชียงใหม่ในขณะนั้น มีลักษณะเด่น ๓ ประการ คือ (๑) เป็นภาษาและสำนวนที่ง่าย สื่อความหมายได้ชัดเจน (๒) มีความคมคาย กระชับกะทัดรัด ไม่ฟุ่มเฟือย (๓) แสดงความคิดเป็นของตัวเอง

                 สำนวนโวหารใช้ทั้งบรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร เทศนาโวหาร อุปมาโวหาร และสาธกโวหาร ส่วนอลังการทางภาษาพบใน ๒ ลักษณะ คือ สัททาลังการ การแต่งเสียงให้เกิดความไพเราะด้วยการใช้ศัพท์พ้องเสียง และอัตถาลังการ การแต่งความหมายให้เกิดความงามพบใน ๒  ลักษณะ คือ สภาววุตติ การใช้ศัพท์อธิบายตรงกับสภาวะของเรื่องนั้น และวังกวุตติ การใช้ศัพท์อธิบายเรื่องนั้นโดยอ้อมด้วยวิธีอุปมาเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและมองเห็นภาพของเรื่องนั้นอย่างชัดเจน

 

                 คุณค่าของคัมภีร์พบใน ๓ ด้าน คือ (๑) ด้านพระพุทธศาสนา คือ สืบทอดพระพุทธ ศาสนาให้ดำรงอยู่และป้องกันไม่ให้หลักคำสอนคลาดเคลื่อน (๒) ด้านที่เป็นวรรณคดีบาลี คือ รักษาขนบการแต่งวรรณคดีประเภทฎีกาไว้ (๓) ด้านคุณค่าต่อชีวิตและสังคม คือ คัมภีร์นี้เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ไว้หลายอย่าง ได้แก่ หลักธรรมเพื่อพัฒนาชีวิต เรื่องที่ต้องระมัดระวัง การศึกษา ลักษณะของบุคคล การแพทย์ ลักษณะของธรรมชาติ มาตราตวง สิ่งที่มีค่าหรือที่นิยมกันในยุคนั้น และสถานที่สำคัญ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕