หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » อนันต์ธานินทร์ นามเมือง
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๗ ครั้ง
รูปแบบการประเมินผลแนวพุทธ: การพัฒนารูปแบบการประเมินผล การสอนศีลธรรมในโรงเรียน
ชื่อผู้วิจัย : อนันต์ธานินทร์ นามเมือง ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีคัมภีรญาณ
  วิชัย รูปขำดี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

        การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปฏิบัติการ  โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑)เพื่อศึกษาวิเคราะห์การพัฒนามนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ๒)เพื่อศึกษาวิเคราะห์การประเมินผลการสอนศีลธรรมโดยใช้ภาวนา ๔  และ๓)เพื่อนำเสนอรูปแบบการประเมินผลการสอนศีลธรรมในโรงเรียน ตามแนวพระพุทธศาสนาโดยศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และศึกษาข้อมูลจากภาคสนาม

ผลการศึกษา พบว่า การพัฒนามนุษย์ตามหลักไตรสิกขาคือ การพัฒนาองค์รวมทั้งกาย วาจา ความคิด จิตใจ อารมณ์ สติ และปัญญา ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมอย่างสันติและมีอิสรภาพ เน้นการปฏิบัติฝึกหัดอบรมตนตามหลักศีล สมาธิ และปัญญา โดยมีเป้าหมาย ๓ ประการคือ ขั้นต้นเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ขั้นกลางเพื่อให้มีศีลธรรม จริยธรรม ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีสุขภาพจิตดี เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ และขั้นสูงพัฒนามนุษย์ไปสู่ระดับอุดมคติตามหลักพุทธธรรม

การประเมินผลการสอนศีลธรรมด้วยภาวนา ๔ ประกอบด้วย กายภาวนา การพัฒนากาย คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือทางวัตถุ  ศีลภาวนา การพัฒนาศีล คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ จิตตภาวนา การพัฒนาจิต คือการทำจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้นในคุณธรรม จริยธรรม ความเข้มแข็งมั่นคง และความเบิกบานผ่องใสสงบสุข และปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา คือ การเสริมสร้างความรู้ความคิดความเข้าใจ และการหยั่งรู้ความจริง

รูปแบบการประเมินผลการสอนศีลธรรมในโรงเรียน มีตัวชี้วัดรวม ๒๓ ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ๔ องค์ประกอบหลัก คือด้านกายภาวนา ด้านศีลภาวนา ด้านจิตตภาวนา และด้านปัญญาภาวนา ผลการตรวจสอบคุณภาพของตัวชี้วัดการประเมินผลการสอนศีลธรรมในโรงเรียน โดยการรวบรวมข้อมูลจากพระสอนศีลธรรม จำนวน ๑๐๗ รูป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติเพื่อหาค่า ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่า ตัวชี้วัดอยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด (Mean =๔.๔๓ SD = .๓๕) ผลการทดสอบรูปแบบการประเมินผลการสอนศีลธรรมในโรงเรียน โดยประเมินจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๗๐ คน พบว่า การสอนศีลธรรมในโรงเรียนภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (Mean=๔.๒๘ SD=.๔๒) และผลสำเร็จเชิงคุณภาพของโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด (Mean=๔.๓๘ SD=.๔๖)

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕