หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอุทัยสังฆกิจ เตชธมฺโม (บุญเลิศ เพ็งท่าโรง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
การศึกษาความสำคัญของประเพณีตักบาตรเทโว ในจังหวัดอุทัยธานี
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอุทัยสังฆกิจ เตชธมฺโม (บุญเลิศ เพ็งท่าโรง) ข้อมูลวันที่ : ๐๒/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี
  วรกฤต เถื่อนช้าง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การวิจัยเรื่อง การศึกษาความสำคัญของประเพณีตักบาตรเทโว ในจังหวัดอุทัยธานี มีวัตถุประสงค์  1)เพื่อศึกษาการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ในคัมภีร์พุทธศาสนา  2) เพื่อศึกษาความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเทโวในจังหวัดอุทัยธานี และ  3)เพื่อศึกษาความสำคัญของประเพณีตักบาตรเทโว ในจังหวัดอุทัยธานี กลุ่มเป้าหมายของการวิจัยได้แก่ กลุ่มผู้นำทางพระพุทธศาสนา กลุ่มผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเน้นการศึกษาจากเอกสาร (Documentary Research) และการวิจัยภาคสนามและการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ (Interview)

ผลการวิจัยพบว่า

1.         จากการศึกษาการทำบุญในพระพุทธศาสนา ก็คือ บุญกิริยาวัตถุ หมายถึง การตั้งใจบำเพ็ญกุศลบุญวัตถุ ซึ่งหมายถึงเหตุให้เกิดอานิสงส์ต่างๆ ดังนั้น บุญกิริยาวัตถุจึงหมายถึงการบำเพ็ญบุญอันเป็นเหตุผลให้เกิดอานิสงส์ และได้กล่าวถึงการแสดงธรรมเรื่องบุญไว้ว่า บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการคือ ๑) บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทาน ๒) บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล ๓) บุญญาวัตถุที่กิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา

2.         การศึกษาความเป็นมาประเพณีตักบาตรเทโว ในจังหวัดอุทัยธานี  โดยผู้วิจัยได้เลือกศึกษากิจกรรมการตักบาตรเทโว ณ วัดสังกัสรัตนคีรี อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี พบว่าประเพณีตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานี  มีการจัดกิจกรรมประเพณีตักบาตรเทโวต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งริเริ่มการจัดประเพณีตักบาตรเทโว ในพุทธศักราช 2500 สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมได้สอดคล้องกับพุทธตำนานเรื่อง “วันเทโวโรหณะ” โดยสมมติ ให้มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง เป็น "สิริมหามายากุฎาคาร" มีบันไดทอดยาวจากมณฑปลงสู่บริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง เปรียบเสมือนบันไดทิพย์ที่ทอดยาวจากสวรรค์ดาวดึงส์ สู่เมืองสังกัสนคร จึงทำให้งานประเพณีตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานีที่มีชื่อเสียง และยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยจุดเด่นของงานอยู่ที่พระภิกษุเดินบิณฑบาตเป็นแถวลงมาจากยอดเขาสะแกกรัง เป็นการจำลองการเสด็จลงจากสรวงสวรรค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามตำนานของการตักบาตรเทโวโรหณะ

3.         ซึ่งประเพณีตักบาตรเทโว ในจังหวัดอุทัยธานี มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ได้แก่

1)        ความสำคัญในการสืบสานประเพณี เป็นการสานความสัมพันธ์ของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดอุทัยธานี  ให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด เป็นที่ยึดเหนียวจิตใจชาวบ้านให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะโดยมีพื้นฐานมาจากหลักพระพุทธศาสนา ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้และมีความเป็นปึกแผ่นทางสังคม

2)        ความสำคัญในการสืบทอดต่ออายุพุทธศาสนา จากประเพณีสำคัญดังกล่าวนี้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญบุญในทางพระพุทธศาสนาตามความเชื่อ ทางด้านพระสงฆ์ก็ได้ปฏิบัติศาสนกิจ ตามหน้าที่ของสงฆ์ได้แผ่เมตตา โปรดสัตว์  ได้แสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนให้ประชาชนกระทำความดี ซึ่งการปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ของพระสงฆ์นับได้ว่า เป็นการเผยแพร่ศาสนาโดยตรง

ความสำคัญในฐานะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา  ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญต่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมประเพณีตักบาตรเทโว โดยมีการจัดสรรงบประมาณในการจัดกิจกรรม มีการจัดตั้งเป็นแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุทัยธานี ทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เส้นทางคมนาคมในการเข้าถึงแหล่งการจัดกิจกรรม ตลอดจนปรับปรุงพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้น เพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาร่วมกิจกรรมประเพณีตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานี ร่วมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งๆขึ้น ตามแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของจังหวัดอุทัยธานี และสอดคล้องกับองค์ประกอบทางพุทธศาสนา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕