หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วัฒนา หลวักประยูร
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
ประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี(สาขารัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : วัฒนา หลวักประยูร ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระปลัดสมบัติ ฐิติญาโณ
  พระครูนิวิฐศีลขันธ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่องประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของผู้มาปฏิบัติธรรมต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้มาปฏิบัติธรรมต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของผู้มาปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

ศึกษาวิจัยโดยใช้การวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) จากแบบสอบถาม (Questionnaire) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่เก็บ   รวมรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ             (Key Informants) เพื่อสนับสนุนข้อมูลเชิงปริมาณ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรมใน     วัดท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี จำนวน ๓๘๕ คน ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม  (Cluster Sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ แบบสอบถามปลายเปิด และแบบสัมภาษณ์ สถิติ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เปรียบเทียบความแตกต่างโดยการทดสอบ ค่าที (t-test) และการทดสอบ ค่าเอฟ      (F-test) โดยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ และคำถามปลายเปิดเป็นความเรียงประกอบตาราง โดยการแจกแจงความถี่ของผู้ตอบ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๙ ท่าน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

ผลการศึกษาพบว่า

๑. ความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติธรรมต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดท่าซุง       อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๕๓        เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ทั้งด้านการวางแผน (Planning) ด้านการจัดองค์การ (Organizing)     ด้านการจัดบุคลากร (Staffing)  ด้านการสั่งการ (Directing)  ด้านการควบคุม (Controlling) พบว่า ด้านการควบคุมและด้านการวางแผน อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านการจัดองค์การ ด้านการจัดบุคลากรและด้านการสั่งการ อยู่ในระดับมาก

๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติธรรมต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดท่าซุง อำเภอเมืองจังหวัดอุทัยธานี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า ผู้ปฏิบัติธรรมมีเพศ  อายุ แตกต่างกัน มีความคิดเห็นไม่ต่างแตกกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมที่มีวุฒิการศึกษา อาชีพและประสบการณ์การเข้าวัด แตกต่างกัน มีความคิดเห็นแตกต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้

๓. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี พบว่า การวางแผน (Planning) ของวัดท่าซุงได้รับคำชมเชยจากผู้ปฏิบัติธรรมว่า มีการวางแผนที่ดีมาก จนสามารถนำไปเป็นต้นแบบด้านการวางแผนเพื่อการบริหารจัดการให้กับวัดที่ยังไม่สามารถวางแผนการบริหารงานประจำปีของวัด การวางแผนด้านการจัดระบบให้ผู้มาปฏิบัติธรรมลงทะเบียนรายชื่อก่อนการเข้าอบรมพระกรรมฐานมีขั้นตอนชัดเจน การ         จัดองค์การ (Organizing) ใช้หลักผสมผสานตามลำดับอาวุโสและหลักความสามารถ ซึ่งจะระบุขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน การจัดบุคลากร (Staffing) ของวัดท่าซุงมีระบบการจัดบุคลากรค่อนข้างชัดเจนดีมาก มีการบริการแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ถือศีล ทำบุญ อย่างดีเยี่ยมทุกๆ ด้าน  แต่เนื่องจากวัดมีขนาดใหญ่มาก ทำให้มีบุคลากรไม่เพียงพอกับปริมาณงาน จึงควรประกาศรับสมัครจิตอาสาล่วงหน้า เพื่อจะได้มีผู้ช่วยมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ที่ต้องการจะช่วยมาก แต่ยังไม่ทราบช่องทางที่จะติดต่ออย่างเป็นกิจลักษณะ การสั่งการ (Directing) ใช้การสื่อสารทั้งในรูปแบบการสั่งด้วยวาจา การสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการนำระบบไลน์มาใช้ในการสั่งการ ทำให้วัดสามารถจัดการแก้ไขได้รวดเร็วทันการณ์ถือว่าทำได้ดีมาก การควบคุม (Controlling) เป็นหัวใจหลักของวัดท่าซุง คือ การมีกฎระเบียบ ข้อห้าม ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติอย่างชัดเจน ทำให้เกิดการควบคุมที่ดี ถ้ามีปัญหาก็จะประชุมและแก้ไขต่อปัญหานั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย พบองค์ความรู้หลักการบริหารผสานวิธีแบบ WATTANA Model เป็นวงจร (Cycle) โดยเป็นหลักการบริหารผสานวิธี (Mixed Methods Management Principle) แบบ ๕ หลักการ ๑๐ เงื่อนไข สำหรับองค์กรและผู้บริหารเพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพแบบไม่มีสิ้นสุด ซึ่งสามารถเริ่มต้นจาก ๑) การวางแผน (Planning) ตามหลักการบริหารผสานวิธี มีเงื่อนไขหลัก ๒ ข้อ คือ ต้องมีการจัดทำ Master Plan และ Action Plan เป็นบริบทในกระบวนการวางแผน ๒) การจัดองค์กร (Organizing) มี ๒ เงื่อนไข คือ ต้องมีการจัดองค์กรโดยระบบ Level System และ Merit System ๓) การจัดบุคลากร (Staffing) มี ๒ เงื่อนไข คือ ต้องมีการกำหนด Function และ Responsibility ๔) การสั่งการ  (Directing) มี ๒ เงื่อนไข คือ ต้องมีระบบการ Command และ Conference  ๕) การควบคุม (Controlling) มี ๒ เงื่อนไข คือ ต้องมี Rule of law และ Regulations เป็นบริบทในกระบวนการตามลำดับข้อ ๑ - ๕ หรือสามารถเริ่มต้นจากข้อ ๓, ๔, ๕, ๑, ๒ หรือเริ่มจากกระบวนการที่ ๕, ๑, ๒, ๓, ๔ เป็นวงจรที่ไม่มีจุดจบที่เป็นเครื่องมือช่วยทางการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕