หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาประทีป สิริปญฺโญ
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๗ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หน้าที่ทางศีลธรรมของค้านท์ ตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาประทีป สิริปญฺโญ ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาพรชัย สิริวโร
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์เรื่อง  “การศึกษาวิเคราะห์หน้าที่ทางศีลธรรมของค้านท์ตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท”  มีวัตถุประสงค์    ข้อ  คือ  ๑. เพื่อศึกษาหน้าที่ทางศีลธรรมของค้านท์  ๒.  เพื่อศึกษาหน้าที่ทางศีลธรรมของพุทธปรัชญาเถรรวาท  ๓. เพื่อศึกษาวิเคราะห์หน้าที่ทางศีลธรรมของค้านท์ตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท 

    จากการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ พบว่า ศีลธรรมตามทัศนะของค้านท์เป็นสิ่งสมบูรณ์ก่อนประสบการณ์ เจตนาดีเป็นสิ่งเดียวที่ดีสมบูรณ์ในตัวเองและปราศจากเงื่อนไข  ดังนั้น  การกระทำที่ดีและถูกต้อง  คือการกระทำที่เกิดจากเจตนาดีเท่านั้น  ค้านท์เห็นว่า  แรงจูงใจที่ผลักดันให้มนุษย์กระทำการต่าง ๆ นั้นมี    อย่างคือ  แรงจูงใจจากความสำนึกในหน้าที่ และแรงจูงใจที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึก การกระทำจากแรงจูงใจที่เกิดจากความสำนึกในหน้าที่เท่านั้นที่มีค่าทางศีลธรรม  การกระทำที่เกิดจากความสำนึกในหน้าที่  คือการกระทำที่เกิดจากเหตุผล  และเหตุผลเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์  การกระทำที่เกิดจากเหตุผล  คือการกระทำตามกฎศีลธรรม  กฎศีลธรรมเป็นสากลและเป็นปรนัย  มีลักษณะเป็นคำสั่งที่เด็ดขาด  ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข  ศีลธรรมถือว่าเป็นพันธะผูกมัด  

   จากการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒  พบว่า  หน้าที่ทางศีลธรรมของพุทธปรัชญาเถรวาทมีเป้าหมายอยู่ที่การดับทุกข์  ทุกข์เกิดจากการกระทำที่มีอกุศลมูลเป็นแรงผลักดัน  การละอกุศลมูลจึงเป็นการกระทำที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์  ค่าทางศีลธรรมจึงขึ้นอยู่กับการกระทำที่เป็นไปเพื่อละอกุศลมูล ซึ่งจะสัมพันธ์อยู่กับการดับทุกข์  หลักการปฏิบัติคือ  การละความชั่ว  ทำความดี  ทำใจให้บริสุทธิ์  วิธีการคือการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘  สงเคราะห์ลงในเรื่องของ  ปัญญา  ศีล  และสมาธิ     

  จากการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ข้อที่  ๓ พบว่า  พุทธปรัชญาเถรวาทเห็นตรงกับค้านท์ว่า  เจตนาเป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำ  ในกรณีของแรงจูงใจ  ค้านท์เห็นว่าการกระทำที่มีแรงจูงใจจากความสำนึกในหน้าที่ เป็นการกระทำที่มีค่าทางศีลธรรม ส่วนพุทธปรัชญาเถรวาทเห็นว่าการกระทำที่มีแรงจูงใจจากฉันทะ  เป็นการกระทำที่มีค่าทางศีลธรรม เพราะเป็นการกระทำในฝ่ายกุศล      แต่แนวคิดของค้านท์เป็นเรื่องเคร่งครัดตายตัว  เพราะค้านท์เห็นว่าแม้แต่การกระทำที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายบวกก็ไม่มีค่าทางศีลธรรม  ซึ่งพุทธปรัชญาเถรวาทไม่เห็นด้วยกับค้านท์  เพราะถือว่าการกระทำที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายบวก  เช่น ความเมตตากรุณา  เป็นการกระทำที่มีคุณธรรม  ทั้งสองทัศนะมีเป้าหมายเดียวกัน  คืออิสรภาพของมนุษย์  และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ควรแก่การเคารพ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕