หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ภัทรจิตร โพธิ์โต
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
ศึกษาแนวทางการใช้จริตเพื่อพัฒนามนุษยสัมพันธ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : ภัทรจิตร โพธิ์โต ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาแนวทางการใช้จริตเพื่อพัฒนามนุษยสัมพันธ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท” นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาจริตของมนุษย์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาแนวคำสอนว่าด้วยมนุษยสัมพันธ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
เถรวาท และ (๓) เพื่อศึกษาแนวทางในการใช้จริตเพื่อพัฒนามนุษยสัมพันธ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท รูปแบบการวิจัยเป็นเชิงคุณภาพ ศึกษาค้นคว้าจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาและแนวคิดตะวันตกเกี่ยวกับสาระสำคัญของเนื้อหาเพื่อนำหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้

 

ผลการวิจัยพบว่า

คำว่าจริต หรือจริยา มีความหมายหลายนัย กล่าวคือ ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน พื้นเพของจิต อุปนิสัย พื้นพิสัย แบบ หรือประเภทใหญ่ๆ
แห่งพฤติกรรมของคน จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตท่องเที่ยวหรืออารมณ์ที่ชอบท่องเที่ยวของจิต รวมถึงลักษณะอันเป็นพื้นฐานของแต่ละบุคคล ในแนวคิดตะวันตกถือว่าบุคลิกภาพที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น กลุ่มชน หรือ สถาบัน จึงจำเป็นต้องรู้จริตหรือพฤติกรรมของผู้อื่น ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนามีการแบ่งจริตออกเป็นหลายประเภท เช่น แบ่งจริตเป็น ๖ ประเภท คือ (๑) ราคจริต (๒) โทสจริต (๓) โมหจริต
(๔) วิตกจริต (๕) สัทธาจริต และ (๖) ญาณจริต หรือ พุทธจริต การแบ่งจริตเป็น ๖ ประเภทมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งไปสู่การเตรียมตัวเพื่อเลือกแนวทางการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการเป็นหลัก และการแบ่งจริตเป็น ๒ ประเภท คือ ตัณหาจริต และทิฏฐิจริต เพื่อมุ่งในการเจริญสติปัฏฐานเป็นหลัก เป็นการแบ่งตามความแก่กล้าของปัญญา

มนุษยสัมพันธ์คือการติดต่อเกี่ยวข้องกันระหว่างมนุษย์โดยเริ่มจากบุคคลใกล้ตัวที่สุดไปยังบุคคลหรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกันน้อยที่สุด ดังตัวอย่างมนุษยสัมพันธ์ในสิงคาลกสูตร ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของบุคคลใกล้ชิด คือ ในครอบครัวระหว่างมารดาบิดากับบุตร ระหว่างบ่าวกับนาย ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์ เป็นต้น แต่ละระดับชั้นความสัมพันธ์ก็มีธรรมะเป็นเครื่องค้ำจุนซึ่งรวมเรียกว่าทิศ ๖ นอกจากนี้ ยังได้จำแนกมนุษยสัมพันธ์ตามลักษณะของสังคม คือระหว่างบุคคล ครอบครัว ชุมชน สถาบันต่าง ๆ ได้แก่สถาบันครอบครัว สถาบันการเมือง สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลหรือสถาบันใดล้วนมีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนียวเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดี

แนวทางการใช้จริตเพื่อพัฒนามนุษยสัมพันธ์เชิงพุทธนั้น สามารถนำหลักธรรมเพื่อปรับจริตโดยองค์รวม คือธรรมอันเป็นที่สบายของจริตต่าง ๆ เพื่อมุ่งปรับพฤติกรรมของตัวเองเป็นที่ตั้ง และเพื่อให้ทราบถึงจริตของผู้อื่นด้วย โดยหลักธรรมอันเป็นที่สบายของคนราคจริต ปกติเป็นคนรักสวยรักงามจึงควรแก่การใช้ปัจจัย ๔ ที่ไม่ประณีต เน้นของที่ไม่สวยไม่งาม เพื่อทรมานกิเลส อิริยาบถยืนหรือเดินเป็นอิริยาบถที่เหมาะสม อารมณ์กัมมัฏฐานที่เหมาะสมคือนีลกสิณชนิดที่มีสีไม่สะอาด คนโทสจริต ปกติเป็นผู้โกรธง่ายควรใช้ปัจจัย ๔ ที่สวยงาม สะอาด ประณีต อิริยาบถนอนหรือนั่งเป็นอิริยาบถที่เหมาะสม อารมณ์กัมมัฏฐานที่เหมาะสมคือนีลกสิณชนิดที่มีสีสะอาด คนโมหจริต เสนาสนะต้องหันหน้าไปสู่ทิศที่ไม่คับแคบ มีทิศปรากฏโล่งสว่าง อิริยาบถเดินเป็นอิริยาบถที่เหมาะสม ดวงกสิณที่มีขนาดกว้างใหญ่เป็นที่เหมาะสม นอกนั้นเหมือนคนโทสจริต และธรรมอันเป็นที่สบายของคนโทสจริตก็เป็นธรรมที่สบายของคนศรัทธาจริตด้วย มีอนุสสติกัมมัฏฐานเป็นที่เหมาะสม คนพุทธิจริตไม่มีข้อที่จะต้องกล่าวว่า ในบรรดาสัปปายะทั้งหลายมีเสนาสนะสัปปายะเป็นต้น ส่วนคนวิตกจริตนั้นเสนาสนะไม่ควรเป็นที่โล่งเพราะมองภาพได้หลายทาง ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้ง่าย อารมณ์กัมมัฏฐานชนิดกว้างใหญ่ก็ไม่เหมาะสมเพราะทำให้จริตแล่นพล่านไปด้วยอำนาจแห่งวิตก แต่จะเหมาะสมกับอารมณ์ชนิดเล็กมากกว่า การนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้จึงต้องให้เหมาะสม กล่าวคือ การใช้มนุษยสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวใช้หลักทิศ ๖ ตามสิงคาลสูตร การใช้มนุษยสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชน ใช้สัปปุริสธรรม ๗ การใช้มนุษยสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มการเมืองและการปกครอง ใช้ทศพิธราชธรรม และมนุษยสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มการศึกษาใช้กัลยาณมิตรธรรม  ๗ ดังนี้เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้เกิดแก่บุคคลทุกจริตนั้น มีวิธีการง่าย ๆ ๖ ประการ คือ (๑) จงทำให้เขาพึงพอใจ (๒) จงรู้จักโอนอ่อนผ่อนตาม (๓) จงยกความเป็นใหญ่ให้เขา (๔) จงมอบงานให้เหมาะสมกับจริต (๕) จงสนใจสิ่งที่เขาแสดง และ (๖) จงสร้างกระแสจิตประกอบด้วยเมตตาต่อบุคคลอื่น เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ย่อมจะสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้เกิดมีแก่บุคคลทุกระดับชั้น

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕