หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหารุ่งเพชร ชวนปญฺโญ (พัดทาป)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
ศึกษารูปแบบและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช)(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหารุ่งเพชร ชวนปญฺโญ (พัดทาป) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  รศ.บำรุง สุขพรรณ์
  ดร.พรจิต อรัณยกานนท์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ กันยายน ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระธรรมกิตตวงศ์ในฐานะผู้ส่งสาร ศึกษาทัศนคติต่อการเผยแผ่พุทธธรรม ตลอดถึงศึกษาความสอดคล้องระหว่างรูปแบบวิธีการเผยแผ่กับหลักพุทธวิธีในการสอน และการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์ ซึ่งในการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และเป็นการวิจัยเชิงสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-Depth Interview) ซึ่งผู้วิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๕ บท ในแต่ละบทมีรายละเอียดที่จะศึกษา ดังต่อไปนี้
บทที่ ๑ บทนำ ศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัย ทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขอบเขตของการศึกษา คำจำกัดความของศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย และประโยชน์ที่คิดว่าจะได้รับ
บทที่ ๒ ศึกษาแนวคิดทฤษฎีและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พุทธธรรมของพระธรรมกิตติวงศ์และการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์
บทที่ ๓ ศึกษารูปแบบ วิธีการ แนวทางเผยแผ่พุทธธรรมของพระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช) ทั้ง ๓ ประเภท คือ ๑. เทศนาธรรม ๒. ปาฐกถาบรรยายธรรม ๓. หนังสือธรรมะ โดยหนังสือธรรมะมีวิธีการนำเสนอ ๖ วิธี คือ ๑. การนำเสนอโดยอธิบายเนื้อหา ๒. นำเสนอโดยยกอุทาหรณ์และเล่านิทานประกอบ ๓. นำเสนอโดยเปรียบเทียบ ๔.นำเสนอโดยอธิบายขยายความศัพท์ ๕. นำเสนอโดยยกพุทธศาสนสุภาษิต คติธรรม คำกลอน ๖. นำเสนอโดยยกบุคลลตัวอย่างมาประกอบ และจากการศึกษาแนวทางการใช้ภาษาในการเผยแผ่ของท่านซึ่งปรากฏอยู่ในรูปแบบดังกล่าวมานั้น ผู้วิจัยพบว่ามีลักษณะเด่นอยู่ ๓ ประการคือ ๑. การใช้ถ้อยคำ ๒. การใช้ลีลาการเทศน์ ๓. การใช้พุทธศาสนสุภาษิต คติธรรม คำกลอน และจากการสัมภาษณ์พระธรรมกถึกและนักวิชาการเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเผยแผ่นั้น ผู้วิจัยพบว่า พระธรรมกิตติวงศ์เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาก คือเป็นพหูสูต เป็นนักคิด นักประพันธ์หนังสือ มีอัธยาศัยไมตรี มีน้ำใจโอบอ้อมอารี กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดง มีวิสัยทัศน์ต่อการเผยแผ่ศาสนากว้างไกล ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้งานเผยแผ่ของท่านประสบผลสำเร็จดังที่ปรากฏแล้ว
บทที่ ๔ ศึกษาความสอดคล้องระหว่างการเผยแผ่พุทธธรรมของพระธรรมกิตติวงศ์กับพุทธวิธีการสื่อสารและการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์ ผู้วิจัยพบว่า แนวทางการเผยแผ่ของท่านนั้นมีความสอดคล้องกันทั้ง ๒ วิธีการ
บทที่ ๕ ว่าด้วยข้อสรุป อภิปรายผล และเสนอแนะ จากการวิจัยผลการศึกษารูปแบบและวิธีการเผยแผ่ของพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ผู้วิจัยพบว่า ท่านได้เผยแผ่พุทธธรรมผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เช่น วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือธรรมะออกเผยแผ่ เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฟังที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้ลด ละ เลิก ความโกรธ ความโลภ ความหลงได้บ้าง ผู้ฟังที่มีความทุกข์ก็ให้หายจากความทุกข์ได้บ้าง หรือผ่อนคลายลงได้ โดยเฉพาะหนังสือธรรมะเป็นคำสอนที่ชักจูงโน้มน้าวจิตใจของบุคคลให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเอง เพื่อให้เกิดความสุขในครอบครัว สังคม และประเทศชาติสรุปความว่า พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ท่านมีทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ในการนำเสนอหรือเผยแผ่พุทธธรรม (ศาสตร์ คือความรู้ ศิลป์ คือเทคนิคและวิธีการ)ดังนั้น รูปแบบและวิธีการเผยแผ่ของท่านจึงอาจเป็นแบบอย่าง เป็นบรรทัดฐานการเผยแผ่และสามารถนำไปศึกษาเพื่อใช้เผยแผ่พุทธธรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Download : 254859.pdf


 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕