หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ประสงค์ รายณสุข
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๖ ครั้ง
วิเคราะห์พุทธวาทวิทยาในวรรณกรรมไทยเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย
ชื่อผู้วิจัย : ประสงค์ รายณสุข ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  สมิทธิพล เนตรนิมิต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            

งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีวาทวิทยาตะวันตกที่ประยุกต์มาใช้ในวาทวิทยาของไทย (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดวาทวิทยาในพระพุทธศาสนาและพุทธวาทวิทยาในวรรณกรรมไทยเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย (๓) เพื่อวิเคราะห์พุทธวาทวิทยาในวรรณกรรมไทยเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ผลของการวิจัยพบว่า แนวคิดทฤษฎีวาทวิทยาตะวันตกเริ่มต้นที่ประเทศกรีซ ประมาณ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช ในระยะแรกไม่มีแนวคิดทฤษฎีวาทวิทยาที่ชัดเจน ต่อมาอริสโตเติลนักปราชญ์ชาวกรีก ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีการพูดว่ามีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ ผู้พูด เนื้อหาที่พูด และผู้ฟัง เป็นรูปแบบพื้นฐานแนวทางให้มีผู้คิดเพิ่มเติมรูปทฤษฎีอื่นๆ ในเวลาต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันรุ่งเรืองแทนอาณาจักรกรีซ ชาวโรมันได้ส่งเสริมวิชาการพูด เช่นเดียวกับชาวกรีก วิชาการพูดหรือวาทวิทยาจึงแพร่ขยายไปสู่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ วิชาวาทวิทยาพัฒนากว้างขวางมีขอบเขตครอบคลุมทั้งในเชิงศิลปะและในเชิงวิทยาศาสตร์

ทางด้านพระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญด้านการพูดหลายอย่างเช่น ในคูถภาณีสูตร กล่าวถึง ผู้พูดหวาน (มธุภาณี) ผู้พูดหอม (บุปผภาณี) ผู้พูดเหม็น (คูถภาณี) พุทธลีลาในการสอนกล่าวถึง สันทัสสนา (แจ่มแจ้ง) สมาทปนา (จูงใจ) สมุตเตชนา (หาญกล้า) สัมปหังสนา (ร่าเริง) ในอภยราชกุมารสูตร แสดงพุทธวิธีในการพูด ๖ ประการ การพูดที่ดีควรพูด คือ สัมมาวาจา (ธรรม
ข้อ ๓ ในมรรคมีองค์ ๘) ปิยวาจา (ธรรมข้อ ๒ ในสังคหวัตถุ ๔) วาจาสุภาษิต (ข้อ ๑๐ ในมงคลสูตร ๓๘)

ในวรรณกรรมไทยเรื่องลิลิตตะเลงพ่ายนั้น ปรากฏว่ามีวาทะของบุคคลสำคัญ ทั้งฝ่ายไทยคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระวันรัต แห่งวัดป่าแก้ว และเหล่าอำมาตย์ ส่วนฝ่ายพม่า
มีพระเจ้ากรุงหงสาวดี พระมหาอุปราชา และพระสนม ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ตามแนวพุทธวาทวิทยา ซึ่งประกอบด้วยหลักพุทธธรรม ได้แก่ พุทธลีลาการสอน ๔  สติ ปัญญา โยนิโสมนสิการ สัมมาวาจา ปิยวาจา วาจาสุภาษิต   โลกธรรม ๘  ทิศ ๖ กถาวัตถุ มิลินทปัญหา และพุทธศาสนสุภาษิต ทั้งศาสตร์ที่เกี่ยวข้องคือ วาทวิทยาเชิงศิลปะ วาทวิทยาเชิงวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาการพูด และวรรณคดีวิจักษ์ จากการวิเคราะห์พบว่ามีลักษณะพุทธวาทวิทยา ได้แก่ มธุรวาจา กัลยาณวาจา ปิสุณาวาจา และ
นัยวาจา ส่วนวิธีการสื่อสารด้วยการพูดของบุคคลสำคัญในเรื่อง มีทั้งการสื่อสารกับตนเองและการสื่อสารกับบุคคลอื่น

องค์ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยครั้งนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันได้ในวงการการศึกษา วงการสุขภาพ วงการสื่อสารมวลชน เป็นต้น ทั้งมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการใช้วาจาสุภาพอ่อนหวานงดงามด้วยสุนทรียรสแห่งพุทธธรรม ผสมผสานด้วยหลักจิตวิทยาและ
วาทวิทยารวมทั้งรสแห่งวรรณคดีวิจักษ์ ก่อวาจาที่รื่นหู ชโลมใจผู้ฟัง สร้างสรรค์ศานติสุขสู่สังคม
ดังอุทาหรณ์แห่งวาทะที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องลิลิตตะเลงพ่ายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕